กระทรวงสาธารณสุข เร่งพัฒนาการแพทย์แผนไทย การวิจัยสมุนไพร เพื่อพัฒนาเป็นยาเข้าสูบัญชียาหลักแห่งชาติ การันตีคุณภาพมาตรฐานความปลอดภัยผู้ใช้ ทั้งแพทย์ ประชาชน ขณะนี้บรรจุได้แล้ว 19 รายการ จะพัฒนาถึงขั้นส่งออกตลาดโลก โดยองค์การอนามัยโลกระบุขณะนี้กระแสนิยมสมุนไพรของฝรั่งเติบโตเร็วมาก มีมูลค่าการบริโภคสูงถึงปีละ 2 ล้านล้านบาท ขณะที่ไทยนำเข้ายาแผนปัจจุบันปีละประมาณ 9 หมื่นล้านบาท เช้าวันนี้ (16 สิงหาคม 2550) นายแพทย์มรกต กรเกษม รัฐมนตรีชวยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดงาน คาราวานส่งเสริมสุขภาพด้วยการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกภาคใต้ ที่คณะพยาบาลศาสตร์ อาคาร 3 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จังหวัดสงขลา จัดโดยกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และศูนย์สนับสนุนสุขภาพประชาชนภาคใต้ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้วิชาการ รวมทั้งมาตรฐานการบริการด้านการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน และการแพทย์ทางเลือกในระดับภูมิภาคให้เป็นที่ยอมรับ สามารถประยุกต์เข้าสู่ระบบบริการสุขภาพได้อย่างกว้างขวาง ในงานมีการแสดงตัวอย่างผักพื้นบ้านภาคใต้นานาชนิด การรักษางูกัดด้วยการแพทย์พื้นบ้าน การรำมวยจีน การนวดไทย โยคะเพื่อสุขภาพ การนวดกดจุดลดความเจ็บปวด สาธิตการออกกำลังกายด้วยวิธีรำมโนราห์ และการรำกระบอง เพื่อสร้างเสริมสุขภาพ โดยงานจะมีถึงวันที่ 17 สิงหาคม 2550 นายแพทย์มรกต กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายเร่งฟื้นฟูพัฒนาระบบการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน ซึ่งถูกทอดทิ้งและขาดการพัฒนามานานกว่า 60 ปี ให้มีมาตรฐานและสามารถให้บริการประชาชนได้อย่างหลากหลาย เป็นการใช้ทรัพยากรที่มีในท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์ต่อการดูแลสุขภาพ ควบคู่กับระบบบริการแพทย์แผนปัจจุบัน ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีการพึ่งพาตนเองทั้งองค์ความรู้ เทคโนโลยี ยาและเวชภัณฑ์ ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ ทั้งนี้ต่อปีประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ 3 แสนกว่าล้านบาท ในจำนวนนี้ร้อยละ 30 เป็นค่าใช้จ่ายด้านยา หรือประมาณ 9 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นยานำเข้า และมีอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 12 ต่อปี โดยวัตถุดิบที่ใช้ผลิตยาในประเทศไทยขณะนี้ ร้อยละ 90 นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งมีข้อมูลยาที่ใช้กันทั่วโลกเกือบร้อยละ 80 สกัดมาจากพืช โดยแนวโน้มยาใหม่ที่ผลิตขึ้นในอนาคต จะได้รับการคุ้มครองสิทธิบัตรยาที่นานขึ้นกว่าเดิม มีผลให้เกิดการผูกขาดและทำให้ราคายาสูงกว่าความเป็นจริง กระทบความมั่นคงทางยาได้ ซึ่งสมุนไพรขณะนี้กำลังได้รับความนิยมจากทั่วโลกมาก และกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วในประเทศพัฒนาแล้ว องค์การอนามัยโลกประมาณการว่า ตลาดยาสมุนไพรของโลกมีมูลค่าปีละกว่า 6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 2 ล้านล้านบาท ส่วนตลาดในประเทศไทย จากการสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีการขยายตัวของสมุนไพรร้อยละ 20 ต่อปี ในปี 2548 มีมูลค่าการซื้อผลิตภัณฑ์สมุนไพรทั้งสิ้น 48,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นยาจากสมุนไพร 8,810 ล้านบาท ฉะนั้น กระทรวงสาธารณสุขจะเร่งสานต่อการฟื้นฟู และส่งเสริมการใช้ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรในสถานบริการสาธารณสุขให้มากขึ้น โดยใช้กลยุทธ์สำคัญคือ การพัฒนายาจากสมุนไพร ให้มีมาตรฐานปลอดภัย มีประสิทธิผลในการป้องกันและบำบัดโรคที่เป็นปัญหา และบรรจุให้เป็นยาในบัญชียาหลักแห่งชาติมากขึ้น ซึ่งเป็นหลักประกันคุณภาพมาตรฐานความปลอดภัย เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2542 บรรจุได้ 8 รายการ และในปี 2549 บรรจุยาเข้าในบัญชียาหลักแห่งชาติได้ 19 รายการ มาจากยา 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มยาแผนไทยจากภูมิปัญญาดั้งเดิม ซึ่งประกอบด้วยตัวยาสมุนไพรหลายชนิด จำนวน 11 ตำรับ เช่น กลุ่มยาแก้ไข้ ได้แก่ ยาแก้ไข้ห้าราก ยาเขียวหอม ยาจันทน์ลีลา ยาแก้ไอขับเสมหะ ได้แก่ ยาประสะมะแว้ง ยารักษาโรคระบบทางเดินอาหาร เช่น ยาเหลืองปิดสมุทร ยาธาตุบรรจบ ยาประสะกานพลู ส่วนยา กลุ่มที่พัฒนามาจากสมุนไพรมี 8 รายการ ได้แก่ ขมิ้นชัน ขิง ชุมเห็ดเทศ รักษาอาการของโรคระบบทางเดินอาหาร ฟ้าทะลายโจร ใช้แก้ท้องเสียและรักษาโรคระบบทางเดินหายใจ บรรเทาอาการของโรคหวัด บัวบก พญายอ รักษาโรคทางผิวหนัง พริก ไพล ใช้ทาบรรเทาอาการปวดและอักเสบ ซึ่งได้ผลดี จากการติดตามผลข้างเคียงของยาจากสมุนไพรดังกล่าวมีน้อยมากและอาการไม่รุนแรง ด้านนายแพทย์สมยศ เจริญศักดิ์ อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ในการพัฒนาระบบการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน และการคัดกรองมาตรฐานการแพทย์ทางเลือก ให้เข้าสู่ระบบบริการสุขภาพในประเทศในสถานพยาบาลต่างๆ จากการตรวจราชการและนิเทศงาน ปีงบประมาณ 2549 พบว่า โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป มีการให้บริการการแพทย์แผนไทย 92 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 95.83 โรงพยาบาลชุมชน จัดให้บริการ 677 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 93.25 ส่วนสถานีอนามัย จัดให้บริการ 8,990 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 91.91 ทั้งนี้ กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ ได้จัดทำยุทธศาสตร์พัฒนาภูมิปัญญาไท และสุขภาพวิถีไท เป็นเวลา 5 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2550-2554 ใช้งบประมาณทั้งหมด 2,364 ล้านบาท ตามแผนนี้จะพัฒนาระบบการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ต่างๆ ให้เข็มแข็งภายใน 3 ปี มีระบบบริการการแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือก ที่มีคุณภาพมาตรฐานภายใน 5 ปี และมีบริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ต่อปี มีแผนพัฒนากำลังคนเฉพาะสาขาดังกล่าวชัดเจนภายใน 5 ปี โดยจะเพิ่มตำรับยาไทยในบัญชียาสมุนไพรแห่งชาติให้ได้ 100 ตำรับใน 5 ปี และเพิ่มมูลค่าการใช้ยาไทยและสมุนไพรให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 25 ภายใน 5 ปี นอกจากนี้ในปี 2550 ยังได้ทำโครงการสกัดสารสำคัญจากสมุนไพร ได้แก่ ว่านหางจระเข้ ข่า แฝกหอม รวมทั้งสกัด เหง้าขิงแห้ง เมล็ดพริกไทย และดอกดีปลี ซึ่งมีสารสำคัญที่มีสรรพคุณทางยามากมาย เพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพ ใช้ทั้งภายในและภายนอกร่างกาย เช่น ในสปา และเกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจต่อไป *********************************** 16 สิงหาคม 2550


   
   


View 19    16/08/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ