กระทรวงสาธารณสุข เผยคนไทยมีอัตราเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก ยกปัญหาอุบัติเหตุเป็นวาระกระทรวงสาธารณสุขดำเนินการตลอดปี ให้ทุกจังหวัดนำข้อมูลการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจร มาวิเคราะห์หาจุดอันตรายอย่างน้อย 5 จุด เสนอหน่วยงานในพื้นที่และชุมชนจัดการปิดความเสี่ยง เพิ่มความปลอดภัย ประเมินผลทุก 3 เดือน
 
วันนี้ ( 5 พฤศจิกายน 2558) ที่ กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ นายแพทย์อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค นายแพทย์อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ แถลงข่าว “อุบัติเหตุป้องกันได้” เพื่อบูรณาการการทำงานในการป้องกัน ลดการบาดเจ็บ เสียชีวิตและพิการจากอุบัติเหตุจราจร ซึ่งไทยมีผู้เสียชีวิตปีละกว่า 22,000 ราย อัตราเสียชีวิตสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก
 
ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ให้ความสำคัญกับปัญหาอุบัติเหตุจราจร กำหนดให้เป็นวาระกระทรวงสาธารณสุข และปรับแผนรณรงค์ป้องกันอุบัติเหตุจราจรจากทุกเทศกาลเป็นการรณรงค์ตลอดทั้งปี เนื่องจากเป็นสาเหตุให้คนไทยเสียชีวิตกว่า 22,000 รายต่อปี บาดเจ็บต้องเข้ารักษาในแผนกผู้ป่วยนอกปีละกว่า 1 ล้านราย  บาดเจ็บรุนแรงต้องนอนรักษาในโรงพยาบาลอีกแสนกว่าราย และในจำนวนนี้ยังทำให้เกิดความพิการอีกประมาณร้อยละ 4.6 ของผู้ที่บาดเจ็บรุนแรงต้องนอนรักษาในโรงพยาบาล ดังนั้น ได้ให้ทุกจังหวัด วิเคราะห์ข้อมูลทางระบาดวิทยา หาจุดเสี่ยงจุดอันตรายในพื้นที่อย่างน้อยจังหวัดละ 5 จุด นำเสนอต่อศูนย์ความปลอดภัยทางถนนและหน่วยงานในพื้นที่  เพื่อนำไปสู่การวางแผนแก้ไขปัญหาร่วมกันในพื้นที่ เช่น การเพิ่มไฟส่องสว่างในถนนที่มืด ติดไฟเตือนบริเวณทางร่วมทางแยก การปิดจุดกลับรถ เป็นต้น โดยจะประเมินผลการดำเนินงานทุก 3 เดือน นอกจากนี้ ในช่วงเทศกาล จะเสนอให้หน่วยงานในพื้นที่ เพิ่มมาตรการด่านชุมชน ในกว่า 7,000 ตำบลทั่วประเทศ สกัดกั้นผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงทั้ง เมาสุรา ไม่สวมหมวกนิรภัย เป็นต้น ออกสู่ถนนใหญ่พบว่าการมีด่านชุมชนจะช่วยลดอุบัติเหตุได้มาก
 
โดยใช้กลยุทธ์ 5 ส. ในการทำงาน ได้แก่  1.สารสนเทศ โดยบูรณาการข้อมูลการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจร จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จากระบบเฝ้าระวังของโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ตำรวจ และบริษัทกลาง รวมทั้งข้อมูลจากการสวบสวนโรคเชิงลึกจากทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว นำมาวิเคราะห์ให้ทราบสาเหตุ ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุ รวมถึงพฤติกรรมเสี่ยง 2.สุดเสี่ยง โดยชี้จุดเสี่ยง จุดอันตรายที่ได้จากการวิเคราะห์ข้อมูลทางระบาดวิทยา 3.สหวิชาชีพ เป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกันทุกวิชาชีพ 4.สุดคุ้ม ใช้ทรัพยากรในพื้นที่ในการแก้ไขปัญหา และ 5.ส่วนร่วม ดำเนินงานโดยประชาชน ชุมชน หน่วยงานในพื้นที่ ต้องให้ความร่วมมือมองเห็นปัญหาร่วมกัน จึงจะประสบความสำเร็จในการทำงาน 
 
ด้านนายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในการดำเนินงานลดการบาดเจ็บ เสียชีวิตและพิการทางอุบัติเหตุจราจร กระทรวงสาธารณสุข ได้วางแผนการดำเนินงาน 4 ด้าน ดังนี้ 1.ระบบข้อมูล ที่บูรณาการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำเสนอต่อศูนย์ความปลอดภัยทางถนน 2.การป้องกัน ทั้งการแก้ไขจุดเสี่ยงการบังคับใช้กฎหมาย ได้แก่ สวมหมวกนิรภัย เมาไม่ขับ  ไม่ขับรถเร็ว คาดเข็มขัดนิรภัย  รวมทั้งมาตรการองค์กร และด่านชุมชน 3.การรักษาพยาบาล เพิ่มคุณภาพห้องฉุกเฉิน เปิดช่องทางด่วนรองรับผู้บาดเจ็บ เพิ่มคุณภาพงานการแพทย์ฉุกเฉิน ณ จุดเกิดเหตุให้ได้มาตรฐานระดับสากลทั้งบุคลากร รถพยาบาล อุปกรณ์กู้ชีพ และสายด่วน 1669 4.การบริหารจัดการ เปิดศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ระดับกระทรวงและระบบบัญชาการในภาวะฉุกเฉินระดับเขต/จังหวัด ตั้งศูนย์จัดการการบาดเจ็บและฉุกเฉิน (Emergency & Trauma Admin Unit) ในโรงพยาบาลจังหวัดและโรงพยาบาลอำเภอขนาดใหญ่ กำหนดผู้ประสานงานในสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด/สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ ทำงานร่วมกับศูนย์ความปลอดภัยทางถนนในพื้นที่
 
ทั้งนี้ จากการถอดบทเรียน ในช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ ปี 2558 ที่ตั้งด่านชุมชน 206 ด่าน สกัดกั้นไม่ให้ผู้ขับขี่ที่ดื่มสุราขับรถออกสู่ถนนใหญ่ และตักเตือนผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง ไม่สวมหมวก และขับรถเร็ว ทำให้ลดการเสียชีวิต ลดการบาดเจ็บได้ร้อยละ 82 ลดผู้ป่วยนอนโรงพยาบาลได้ร้อยละ 77 โดยใช้ข้อมูลชี้เป้าของกระทรวงสาธารณสุข 
 
**************************** 5 พฤศจิกายน 2558


   
   


View 21    05/11/2558   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ