กระทรวงสาธารณสุข ร่วมรณรงค์วันความดันโลหิตสูงโลกประจำปี 2558 พร้อมเร่งตรวจคัดกรองและค้นหาผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง เข้าสู่ระบบการรักษา เผยข้อมูลล่าสุดพบผู้ป่วยรายใหม่สูงเกือบ 1 แสนคน ครึ่งหนึ่งไม่รู้ตัวว่าป่วย ส่วนยอดผู้เสียชีวิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แนะควรตรวจวัดความดันโลหิตอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ งดบุหรี่ งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด ลดอาหารรสเค็ม

ศาสตราจารย์ นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า วันที่ 17 พฤษภาคมของทุกปี สมาพันธ์ความดันโลหิตสูงโลก (World Hypertension League) กำหนดให้เป็นวันความดันโลหิตสูงโลก เพื่อให้ทุกประเทศเร่งรณรงค์สร้างกระแสตื่นตัวตระหนักต่อโรคความดันโลหิตสูง สถานการณ์ล่าสุดจากองค์การอนามัยโลก ในปี 2554  ทั่วโลกมีผู้มีความดันโลหิตสูงเกือบ 1,000 ล้านคน ซึ่ง 2 ใน อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา โดยพบว่า คนในวัยผู้ใหญ่ในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทย มี 1 คน ใน 3 คนที่มีภาวะความดันโลหิตสูง และจากผู้ป่วยทั่วโลกมีเพียงร้อยละ 50 เท่านั้นที่รู้ตัวว่าป่วย ดังนั้นในปีนี้ สมาพันธ์ฯ จึงได้รณรงค์ในประเด็น “ท่านทราบระดับความดันโลหิตของท่านหรือไม่” (Know Your Numbers)    

 ผลสำรวจสุขภาพประชาชนไทยปี 2556 พบผู้ป่วยความดันโลหิตสูงรายใหม่ 90,564 คน แบ่งเป็นประชากรกลุ่มเสี่ยงที่ป่วยเป็นโรคนี้ 64,115 คน และกลุ่มคนปกติป่วยเป็นโรคนี้ 26,449 คน นอกจากนี้ยังพบจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคนี้เพิ่มขึ้น จากปี 2555 จำนวน 3,684 คน เพิ่มเป็น 5,165 คน ในปี พ.ศ.2556 ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 1,481 คน เรื่องที่น่าวิตกอย่างยิ่ง คือ ในจำนวนผู้ที่มีความดันโลหิตสูงประมาณร้อยละ 50 ไม่รู้ตัวว่าเป็นความดันโลหิตสูง เนื่องจากไม่เคยได้รับการวินิจฉัยมาก่อน

ศาสตราจารย์ นายแพทย์รัชตะกล่าวต่อว่า โรคความดันโลหิตสูง ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสุขภาพมีผลต่อหลอดเลือดและการไหลเวียนเลือดและอ๊อกซิเจนไปสู่หัวใจ อาจเป็นสาเหตุให้หัวใจล้มเหลว หลอดเลือดสมองแตก/ตีบ และเร่งให้เกิดการเป็นโรคไตวายระยะสุดท้ายได้ ดังนั้นจึงให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เผยแพร่ข้อมูลเพื่อเพิ่มความตระหนักให้ประชาชนมาตรวจวัดความดันโลหิตอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อให้รู้ค่าความดันโลหิตของตนเอง และ เข้าสู่ระบบการรักษาต่อไป 

ด้านนายแพทย์โสภณ  เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงของโรคความดันโลหิตสูง มาจากการกินอาหารที่ไม่ได้สัดส่วน หวาน มัน โดยเฉพาะอาหารที่มีรสเค็ม กินผักและผลไม้ ไม่เพียงพอ  ขาดการออกกำลังกาย  ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  รวมทั้งการสูบบุหรี่ก็มีส่วนเป็นเหตุให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงได้ ดังนั้นเพื่อลดความเสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูง ขอแนะนำให้ประชาชนปฏิบัติ ดังนี้ 1.ลดการกินอาหารรสเค็ม, อาหารหมักดอง อาหารกระป๋อง และอาหารขยะ 2.เพิ่มการรับประทานผักและผลไม้ให้มากขึ้น 3.ออกกำลังกายสม่ำเสมอ 4.งดและลดการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค 0-2590-3987 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422

****************************** 17 พฤษภาคม 2558




   
   


View 18    17/05/2558   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ