รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สรุปผลประชุมแก้ไขค่ารักษาโรงพยาบาลเอกชนแพง  ใช้ 3 แนวทางให้แล้วเสร็จในระยะเร่งด่วน 1 เดือนโดยตั้งคณะทำงาน 1 ชุด ให้ดำเนินการ 3 เรื่องคือรวบรวมข้อมูลค่ายา ค่าบริการทางการแพทย์จากโรงพยาบาลเอกชน ขึ้นเวปไซต์กลางของกระทรวงสาธารณสุข  เปิดสายด่วนรับเรื่องจากประชาชน และเข้มกฎหมายการบริการแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อรักษาชีวิตประชาชน  โดยทำคู่ขนานกันไปกับการแก้ไขเรื่องราคายา ค่าหัตถการ ให้มีราคาเหมาะสม

วันนี้ (15 พฤษภาคม 2558) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่ากระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สมศักดิ์  ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานประชุมมาตรการแก้ไขปัญหาค่ารักษาโรงพยาบาลเอกชนแพง หลังได้รับร้องเรียนจากประชาชน   ผู้เข้าประชุมวันนี้ประกอบด้วยนายแพทย์สุรเซษฐ์  สถิตนิรามัย รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงสาธารณสุข  นายแพทย์อำนวย  กาจีนะ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เลขาธิการแพทยสภา  เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.)  อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์    นายประพนธ์  อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา   นายแพทย์ธเรศ  กรัษนัยรวิวงศ์ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ นายกสภาเภสัชกรรม หัวหน้าสำนักวิชาการสำนักงานปลัดกระทรงสาธารณสุข    
 
ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะกล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ เพื่อวางแนวทางแก้ไขปัญหาให้ชัดเจน ตั้งเป้าหมายการทำงาน จะทำให้เร็วที่สุด เพราะอยู่ในความสนใจประชาชน โดยได้รับการร้องเรียนจากประชาชนใน 3 ประเด็นคือค่ารักษาพยาบาลแพง คิดค่ารักษาเกินจากความเป็นจริงและการเรียกเก็บเงินจากผู้ป่วยฉุกเฉินของโรงพยาบาลเอกชนบางแห่ง ที่ประชุมได้มีการทบทวนกฎหมายที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องราคาสินค้าและบริการของโรงพยาบาลเอกชนคือ พรบ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 พรบ.ว่าด้วยสินค้าและบริการพ.ศ.2542  รวมทั้งประสบการณ์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สปสช.ที่เกี่ยวข้องในเรื่องระบบริการผู้ป่วยวิกฤติฉุกเฉิน เข้ารักษาได้ทุกแห่ง โดยไม่ต้องสำรองจ่าย  ตามนโยบายรัฐบาล พ.ศ. 2555  ได้ลงนามในบันทึกความร่วมกับสมาคมโรงพยาบาลเอกชน  ไม่ได้ระบุรายสถานพยาบาล  ผลการดำเนินงานในรอบ 3 ปี มีผู้ใช้บริการฉุกเฉินประมาณ 6 หมื่นราย เฉลี่ย 2000 รายต่อเดือน  โดยมีประชาชนร้องเรียนถูกเรียกเก็บ 5 ราย  ส่วนสายด่วนกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ในปี 2558 ได้รับ 187 เรื่อง เป็นเรื่องค่ารักษาพยาบาลสูง 19 ราย ส่วนของสคบ.ได้รับการร้องเรียนเรื่องค่ารักษาโรงพยาบาลเอกชนแพงปีละ100 กว่าราย โดยได้มีการเจรจาไกลเกลี่ย เนื่องจากยังไม่มีกฎหมายควบคุมชัดเจน
 
ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ กล่าวต่อว่า จากการหารือประเด็นรายละเอียดทั้งหมด ที่ประชุมได้แยกการวิเคราะห์ที่มาของค่ารักษาของโรงพยาบาลเอกชนแพง  ซึ่งมีหลายปัจจัยเกี่ยวข้อง ได้แก่ ค่ายา  ค่าบริการอื่นๆ เช่นเวชภัณฑ์ ค่าหัตถการ ค่าตรวจวินิจฉัย ที่ใช้เครื่องมือราคาแพง รวมทั้งค่าห้อง ค่าอาหาร สถานที่  แนวทางการแก้ไข เรื่องนี้ในระยะเร่งด่วนได้ตั้งคณะทำงาน 1 ชุด   ประกอบด้วยผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดทั้งภาครัฐและเอกชน   ดำเนินการใน 3  เรื่อง ให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน ได้แก่ 1.รวบรวมข้อมูลค่ายา ค่าบริการทางการแพทย์จากโรงพยาบาลต่างๆ ประกาศในเวปไซต์กลางกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้ามาตรวจสอบ ก่อนเลือกตัดสินใจเข้ารับบริการ และให้หน่วยงานอื่นๆสามารถเชื่อมต่อไปใช้ได้ เช่น สปสช. สคบ. เป็นต้น                                       
 
2.เปิดสายด่วนรับเรื่องจากประชาชน 3 เบอร์ เพื่อให้ข้อมูลประชาชน และรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน 3 หมายเลข คือสายด่วนคุ้มครองผู้บริโภค  หมายเลข 1166 ในเวลาราชการ   สายด่วนกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ 02 –193 7999  และสายด่วน สปสช. 1330 ตลอด 24 ชั่วโมง  โดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพจะเป็นศูนย์กลางดำเนินการแก้ไขตรวจสอบเรื่องร้องเรียนโดยเร็วที่สุด 3.เรื่องบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ฟรีทุกทีสิทธิ์ ไม่เรียกเก็บเงินจากประชาชน โดยจะจัดทำแนวทางการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินถึงแก่ชีวิตให้ชัดเจน  และระบบการเบิกจ่ายของโรงพยาบาลจากกองทุนกลาง  โดยจะมีการตกลงราคาที่เหมาะสมกับโรงพยาบาลทั้งหมดทั้งรัฐ เอกชน  เพื่อรักษาชีวิตของผู้ป่วยฉุกเฉินให้ได้   
 
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้จะต้องใช้เวลาแก้ไขพอสมควร เนื่องจากมีรายละเอียดปลีกย่อยจำนวนมากและเกี่ยวข้องหน่วยงานหลายฝ่าย  โดยจะดำเนินการคู่ขนานกันไป ในเรื่องราคายา  เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย ตามขอบเขตอำนาจที่มีใช้อยู่คือ พรบ.สถานพยาบาล 2541  ของกระทรวงสาธารณสุข  และพรบ.ว่าด้วยสินค้าและบริการพ.ศ.2542 ของกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์  จะบังคับใช้ให้เข้มข้นขึ้น  รวมทั้งเรื่องค่ารักษาพยาบาลด้านอื่นๆ เช่น ค่าหัตถการ จะพิจารณาให้เกิดความเหมาะสม โดยมีการประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐเอกชนในการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดประชาชน ในส่วนเรื่องการบริการการแพทย์ฉุกเฉิน  เพื่อสนองนโยบายรัฐบาลเจ็บป่วยฉุกเฉิน เข้ารักษาได้ทุกที่ ฟรีทุกสิทธิ์  รักษาความปลอดภัยชีวิตของประชาชน อาจจะออกเป็นประกาศควบคุมราคาค่าบริการป่วยวิกฤติฉุกเฉิน เพื่อนำเสนอ ครม.ประกาศใช้โดยเร็ว
********************** 15 พฤษภาคม 2558
 


   
   


View 18    15/05/2558   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ