รัฐบาลไทย โดยกระทรวงสาธารณสุข จะส่งทีมแพทย์ชุดที่ 2 ไปเนปาลวันที่ 7 พฤษภาคมนี้ เพื่อผลัดเปลี่ยนทีมแพทย์ชุดแรกที่รพ.สนาม ต.ซิปปะกัต โดยระดมทีมแพทย์ด้านรักษาและเวชศาสตร์ครอบครัว จากหลายสถาบันร่วมทีมกระทรวงสาธารณสุข อาทิ ม.มหิดล ม.เชียงใหม่ ม.จุฬาลงกรณ์ฯ รวมทั้งจิตแพทย์ นักจิตวิทยา ผู้เชี่ยวชาญด้านการควบคุมโรค สุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม

          วันนี้ (4 พฤษภาคม 2558ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงสาธารณสุข และนพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประธานวอร์รูมฯ ประชุมคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข ติดตามการให้ความช่วยเหลือประชาชนเนปาลที่ประสบภัยแผ่นดินไหวของทีมเมิร์ทไทย ซึ่งมีผู้แทนจากมหาวิทยาลัยมหิดลร่วมประชุม

          นายแพทย์สุรเชษฐ์กล่าวว่า ภาวะภัยพิบัติของเนปาลขณะนี้ก้าวเข้าสู่สัปดาห์ที่ 2 เป็นระยะเปลี่ยนผ่านจากฉุกเฉินเข้าสู่ระยะการฟื้นฟู การบาดเจ็บลดลง แต่จะพบการป่วยจากโรคอื่นๆ มากขึ้น เช่นโรคประจำตัวที่มีอยู่ก่อน เช่นเบาหวาน ระบบทางเดินหายใจ ปอดบวม ระบบทางเดินอาหาร ผลการให้บริการของทีมเมิร์ทรัฐบาลไทยที่รพ.สนาม ต.ซิปปะกัต อ.สินธุปาลโชค วานนี้ (3 พฤษภาคม 2558) มีผู้ป่วย 135 คน ส่วนใหญ่บาดแผลอักเสบ ไข้หวัด ทีมแพทย์ได้ปรับการทำงาน โดยเพิ่มการควบคุมป้องกันโรค การดูแลความสะอาดสุขาภิบาลอาหาร สิ่งแวดล้อม และการดูแลสุขภาพจิตเพื่อคลายความวิตกกังวล ซึ่งจะพบมากขึ้น และได้รับมอบหมายจากอง๕การอนามัยโลกสำรวจพื้นที่เพิ่มเติมที่ตำบลนาวาลเปอร์ (Nawalpur) ซึ่งอยู่ห่างจาก ต.ซิปปะกัต 14 กิโลเมตร ประชากรประมาณ 1,500 หลังคาเรือน มีผู้เสียชีวิตประมาณ 50 คน บ้านเรือนพังเสียหายร้อยละ 70-80 สถานบริการสาธารณสุขได้รับความเสียหายทั้งหมด   

                นอกจากนี้ เมื่อวานนี้ องค์การอนามัยโลกและกระทรวงสาธารณสุขและประชากรเนปาล ได้ยกระดับรพ.สนามของหน่วยแพทย์จากประเทศไทยที่ต.ซิปปะกัต ขึ้นเป็นศูนย์ประสานงานความช่วยเหลือจากนานาชาติ (International Co-ordination Center) เพื่อเป็นจุดทำงานร่วมกันของทีมแพทย์จากนานาชาติ เพื่อกระจายบริการให้ครอบคลุมทุกหมู่บ้าน และได้มอบหมายให้เพิ่มจุดบริการจุดที่ 2 ที่โรงเรียนปาชคาล (Pachkhal) ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข ได้จัดเตรียมทีมพร้อมเดินทางทันทีที่ได้รับการประสานงานจากกระทรวงสาธารณสุขเนปาล

          นายแพทย์สุรเชษฐ์กล่าวต่อว่า สำหรับภารกิจทีมแพทย์ชุดที่ 2 ที่จะไปสับเปลี่ยนกับทีมที่ ต.ซิปปะกัต จะมีทั้งด้านการรักษาพยาบาล งานด้านสาธารณสุข เน้นสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดูแลสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม การป้องกันควบคุมโรค สุขภาพจิต และการฟื้นฟูโครงสร้างบริการสาธารณสุขพื้นฐานให้กลับมาเปิดบริการได้โดยเร็ว ทีมประกอบด้วย แพทย์ด้านรักษา และเวชศาสตร์ครอบครัว รวมทั้งจิตแพทย์ นักจิตวิทยา ผู้เชี่ยวชาญด้านการควบคุมโรค สุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม จากหลายสถาบันร่วมกับทีมกระทรวงสาธารณสุข อาทิ ม.มหิดล ม.เชียงใหม่ ม.จุฬาลงกรณ์ฯ รวมทั้งได้ให้กรมควบคุมโรค กรมการแพทย์ จัดทำคู่มือ เพื่อเป็นแนวทางการปฏิบัติงานของทีมแพทย์ชุดต่อไป โดยจะปฐมนิเทศในวันที่ 6 พฤษภาคม และเดินทางในวันที่ 7 พฤษภาคม 2558  

                “การปฏิบัติงานของทีมแพทย์ไทยที่เนปาลครั้งนี้ เป็นการสร้างการเรียนรู้ และประสบการณ์ตรงในการดูแลผู้ประสบภัยพิบัติแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ร่วมกับทีมนานาชาติที่มีความพร้อมและประสบการณ์สูง เช่น ญี่ปุ่น ไต้หวัน สามารถนำมาวางระบบรองรับภาวะภัยพิบัติแผ่นดินไหวของไทยที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต” นพ.สุรเชษฐ์กล่าว

          ด้านนายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขและประธานวอร์รูมฯ กล่าวว่า ในการดูแลสุขภาพจิตผู้ประสบภัยชาวเนปาล ได้รับความร่วมมือจากองค์การอนามัยโลก แปลแบบประเมินความเครียดของไทยเป็นภาษาฮินดี และจะทดสอบกับชาวเนปาลในวันนี้ เพื่อปรับปรุงให้สอดคล้องเหมาะสมกับบริบทของชาวเนปาล เพิ่มประสิทธิภาพการดูแลผู้ประสบภัยดียิ่งขึ้น สำหรับยาและเวชภัณฑ์ต่างๆ ที่เตรียมไปจากประเทศไทย จนถึงขณะนี้ยังมีความต้องการเพิ่มเติม เช่น ยาน้ำสำหรับเด็ก เครื่องมือแพทย์ เช่น เครื่องวัดปริมาณออกซิเจนในเลือด เครื่องให้น้ำเกลือเด็ก  เครื่องปั่นไฟ เป็นต้น โดยวอร์รูมฯ จะดำเนินการจัดส่งไปโดยเร็ว

******************************* 4 พฤษภาคม 2558

 

 



   
   


View 18    04/05/2558   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ