กระทรวงสาธารณสุข สร้างเครือข่ายในการส่งเสริมป้องกัน ดูแลและรักษาผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตและจิตเวช ในโรงพยาบาลที่ไม่มีจิตแพทย์ เน้นบริหารการใช้ทรัพยากรร่วมกันอย่างคุ้มค่า เพื่อให้ประชาชนได้รับการดูแลรักษาและเข้าถึงบริการให้ครอบคลุมทุกกลุ่มประชากร โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตและจิตเวช
วันนี้ (31 ธันวาคม 2557) ที่ โรงพยาบาลเพชรบูรณ์ นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตบริการสุขภาพที่ 2 ตรวจเยี่ยมแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) พร้อมให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพที่เน้นการใช้ทรัพยากรที่มีร่วมกันให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด ทั้งบุคลากร เครื่องมือ และการเงินการคลัง เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่ดีทั้งร่างกายและจิตใจ โดยเฉพาะจิตใจ ข้อมูลปัจจุบันมีผู้ที่เจ็บป่วยทางด้านสุขภาพจิตที่ยังเข้าไม่ถึงบริการ เช่น ผู้ป่วยโรคจิตมารับบริการร้อยละ 43 ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่มารับบริการร้อยละ 37 แม้จะผ่านเกณฑ์มาตรฐานแต่ยังพบผู้ป่วยที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงเช่นกัน เนื่องจากไม่ทราบว่าตัวเองมีอาการป่วย และจากข้อมูลการให้บริการผู้ป่วยสุขภาพจิตและจิตเวชของภาคเหนือ พบว่า มีผู้เข้ารับบริการ 407,575 คน ด้วยเหตุนี้กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ผลักดันและสนับสนุนให้เขตบริการสุขภาพที่ 1 และ 2 ร่วมกันจัดระบบบริการสุขภาพด้านสุขภาพจิตให้เกิดความเข้มแข็ง และสร้างเครือข่ายโดยการบูรณาการการทำงานด้านสุขภาพจิตเข้ากับการดำเนินการฝ่ายกายและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในชุมชน เพื่อให้ประชาชนได้รับการส่งเสริมป้องกัน รวมทั้งผู้ที่เจ็บป่วยทางสุขภาพจิตสามารถเข้าถึงบริการและได้รับการรักษามากขึ้น
นายแพทย์ณรงค์ กล่าวต่อว่า แนวทางการจัดระบบดูแลผู้ป่วยจิตเวชของโรงพยาบาลเพชรบูรณ์ที่ไม่มีจิตแพทย์ แต่สามารถดูแลและรักษาผู้ป่วยจิตเวชได้ เนื่องจากการบริหารจัดการทรัพยากรในโรงพยาบาลอย่างคุ้มค่า โดยแพทย์ในโรงพยาบาล เช่น กุมารแพทย์ อายุรกรรมแพทย์ เป็นแพทย์ที่ช่วยดูแลงานด้านสุขภาพจิตและจิตเวช ร่วมกับพยาบาลที่ผ่านการศึกษาและอบรมด้านสุขภาพจิตและจิตเวช ในดูแลรักษาผู้ป่วยในพื้นที่
นายแพทย์พิเชฐ บัญญัติ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวว่า ระบบการดูแลรักษา ส่งเสริมและป้องกันผู้ป่วยจิตเวชของโรงพยาบาลเพชรบูรณ์ ตามโครงการเข้าถึงบริการโรคจิตโรคซึมเศร้า เน้นการสร้างความรู้ ความเข้าใจของเครือข่ายในการทำงานร่วมกับหน่วยงานในชุมชน เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล อสม. แกนนำชุมชน ให้มีส่วนร่วมในการคัดกรองและดูแลรักษาผู้ป่วยจิตเวชในชุมชนของตนเอง เพื่อไม่ให้เกิดตราบาปกับผู้ป่วยหรือเป็นที่รังเกียจของสังคม โดยการอบรมบุคลากรที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ให้มีความรู้ด้านสุขภาพจิต และสามารถคัดกรองปัญหาสุขภาพจิต หากพบผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะเจ็บป่วยทางด้านสุขภาพจิตจะได้รับคำแนะนำให้มาโรงพยาบาลเพื่อตรวจประเมินและนำเข้าสู่กระบวนการรักษา โดยโรงพยาบาลจะมีแพทย์และพยาบาลดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง หากเกินขีดความสามารถจะมีการปรึกษาจิตแพทย์ของโรงพยาบาลเครือข่าย เช่น โรงพยาบาลพุทธชินราช โรงพยาบาลอุตรดิตถ์ โรงพยาบาลสวนปรุง โรงพยาบาลเลย ซึ่งเป็นโรงพยาบาลในเขตบริการสุขภาพเดียวกันและและใกล้เคียงกัน เพื่อหาแนวทางการรักษาร่วมกัน ตลอดจนส่งต่อผู้ป่วยไปรับการรักษาในโรงพยาบาลเฉพาะทาง รวมทั้งมีการเตรียมชุมชนเพื่อส่งผู้ป่วยกลับเข้าไปอยู่ในชุมชนเมื่ออาการทุเลา ซึ่งเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีร่วมกันในเขตให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด
********************************* 31 ธันวาคม 2557
View 14
31/12/2557
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ