สธ. ขยายผล “ธวัชบุรีและท่าวังผาโมเดล” แก้ปัญหายาเสพติดครบวงจรใน 10 จังหวัด เปิดตัว แอปฯ ล้อมรักษ์ ช่วยผู้ป่วยเข้าถึงบำบัดรักษา
- สำนักสารนิเทศ
- 148 View
- อ่านต่อ
รัฐมนตรีว่าการกระทรงสาธารณสุข ลงนามในประกาศกระทรวงสาธารณสุข เพิ่มเขตติดโรคไวรัสอีโบลาอีก 1 แห่งคือ เมืองอีเคลเตอร์ ประเทศดีอาร์ คองโก รวมพื้นที่ระบาดโรคจนถึงขณะนี้ทั้งหมด 3 ประเทศ และ 2 เมือง ในไนจีเรียและดีอาร์คองโก ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อของไทย พ.ศ.2523 โดยไทยเข้มการเฝ้าระวังโรคจากผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ระบาด 3 จุดใหญ่คือที่ด่านเข้าออกทางบก น้ำ และอากาศทุกด่านทุกวัน ที่โรงพยาบาลรัฐเอกชนทั่วประเทศและในชุมชนที่มีชาวอาฟริกาตะวันตกเข้ามาอาศัยที่จ.จันทบุรีและเขตบางรัก กทม. ผลการเฝ้าระวังยังไม่พบผู้ป่วย สถานการณ์ต่างประเทศล่าสุดพบผู้ป่วย 8,386 ราย เสียชีวิต 4,024 ราย มากที่สุดในไลบีเรีย รองลงมาคือเซียร์ร่าลีโอน และกินี
ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในวันนี้ได้ลงนามในประกาศกระทรวงสาธารณสุข เพิ่มพื้นที่ระบาดของโรคระบาดไวรัสอีโบลาอีก 1 ประเทศ คือที่เมืองอีเคลเตอร์ (Equateur) ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ( Democratic Republic of the Congo,DRC ) ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2523 โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันถัดไปหลังจากประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา หลังจากที่ได้ประกาศพื้นที่ระบาดของโรคนี้ไปแล้วเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2557 ใน 3 ประเทศคือไลบีเรีย กินี เซียร์ร่าลีโอน และเมืองลากอส ประเทศไนจีเรีย เนื่องจากปัจจุบันโรคดังกล่าวยังมีความรุนแรง ไม่มีวัคซีนป้องกัน และยังไม่มียารักษาโดยเฉพาะ ดังนั้นจึงต้องใช้ระบบการเฝ้าระวังโรคและผู้ติดเชื้อเป็นสำคัญ เพื่อให้สามารถรู้โรคได้เร็ว ดูแลรักษาและควบคุมป้องกันไม่ให้โรคแพร่กระจายได้โดยเร็วที่สุด โดยไทยจะเพิ่มการเฝ้าระวังผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ที่มีโรคอีโบลาระบาดคือ 3 ประเทศ และ 2 เมืองที่กล่าวมาที่ด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศทุกช่องทางทั้งทางบก ทางอากาศ ทางเรือทุกด่านทุกวัน จนถึงวันนี้ไทยยังไม่พบผู้ป่วยโรคอีโบลา
ทางด้านนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า วันนี้ได้ประชุมวอร์รูมเพื่อติดตามสถานการณ์โรคอีโบลาและมาตรการเฝ้าระวังป้องกันโรคของประเทศไทย โดยองค์การอนามัยโลก รายงานสถานการณ์โรคอีโบลายังไม่ลดลง ตั้งแต่ 8 กุมภาพันธ์ 2557 - 8 ตุลาคม 2557 มีผู้ป่วยโรคอีโบลารวม 8,376 ราย เสียชีวิต 4,024 ราย โดยผู้ป่วยครึ่งหนึ่งป่วยในช่วง 21 วันมานี้ โดยเฉพาะที่ประเทศไลบีเรีย ซึ่งเป็นพื้นที่วิกฤติที่สุด มีผู้ป่วยรายใหม่ 2,091 ราย และที่เซียร์ร่าลีโอนมีผู้ป่วย 1,000 กว่าราย ขณะที่เตียงนอนในโรงพยาบาลไม่เพียงพอ อาจทำให้การควบคุมโรคยากลำบากขึ้น และยังมีประเทศที่พบผู้ติดเชื้อคือที่สหรัฐอเมริกา สเปน โดยผู้ติดเชื้อเป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วย เบื้องต้นพบจุดอ่อนที่ทำให้ติดเชื้อคือขั้นตอนการถอดชุดป้องกันโรค ดังนั้นจึงเป็นโอกาสที่ไทยต้องเร่งกำชับให้เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในสถานพยาบาลของไทยทั้งรัฐ เอกชน ให้ดำเนินการตามแนวทางการป้องกันการติดเชื้อที่ได้กำหนดไว้แล้วให้เกิดความเข้มแข็งและความมั่นใจในการดูแลหากมีผู้ติดเชื้อในประเทศ ตั้งแต่จุดรับผู้ป่วยที่แผนกผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน ตลอดจนถึงผู้ดูแลห้องเก็บศพ โดยในระยะเร่งด่วนนี้ ได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โดยจังหวัดที่มีด่านเข้าออกระหว่างประเทศ หรือมีสนามบินนานาชาติรวม 30 จังหวัด เน้นหนัก 3 มาตรการประกอบด้วย การป้องกันโรค การค้นหาโรคและผู้ป่วย และการดูแลรักษาพยาบาล
นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อไปว่า สำหรับการเตรียมความพร้อมให้ความช่วยเหลือประเทศระบาดที่อาฟริกาตะวันตกตามคำร้องขอขององค์การอนามัยโลก จากการประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอกกระทรวงสาธารณสุข ได้วางแผนการช่วยเหลือ โดยเบื้องต้นได้มอบให้กรมควบคุมโรคและสำนักงานสาธารณสุขฉุกเฉิน ประสานจัดเตรียมทีมสำหรับประเมินความพร้อมไว้ 1 ทีมประมาณ 5-10 คน โดยหากคณะรัฐมนตรีมีมติให้ความช่วยเหลือในเรื่องใด ก็จะส่งทีมนี้เดินทางไปประเมินสถานการณ์ในพื้นที่ก่อน รวมทั้งด้านความปลอดภัยบุคลากร เพื่อวางแผนการช่วยเหลือในขั้นต่อไปอย่างรัดกุมที่สุด เพื่อให้สามารถหยุดยั้งการระบาดของโรคให้เกิดความปลอดภัยให้โลก รวมถึงประเทศไทยด้วย
ทางด้านนายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า ผลการตรวจคัดกรอง เฝ้าระวังผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ระบาด จนถึงขณะนี้ได้ตรวจไปแล้ว 2,103 คน ไม่พบผู้ติดเชื้อ อย่างไรก็ตามจุดที่กรมควบคุมโรคเพิ่มการเฝ้าระวังเพิ่มเติมคือจุดที่มีชาวอาฟริกาจากเขตติดโรคอาศัยอยู่ ซึ่งมี 2 แห่งคือจังหวัดจันทบุรีและเขตบางรัก กทม. ได้วางแผนเฝ้าระวังอย่างรัดกุม โดยจัดผู้ประสานงาน ให้อสม.ช่วยดูแล ประชุมให้ความรู้แก่คลินิก โรงพยาบาลทั้งรัฐเอกชน และร้านขายยา ที่อยู่ใกล้ชุมชนทั้ง 2 แห่งนี้ ขอความร่วมมือในการเฝ้าระวังเมื่อมีชาวอาฟริกาป่วยและเข้าไปใช้บริการ รวมถึงผลิตสื่อต่างๆ ในการให้ความรู้แก่บุคลากรทางการแพทย์
นอกจากนี้ ได้ร่วมมือกับศูนย์ควบคุมโรคแห่งชาติสหรัฐอเมริกา 5 เรื่อง ได้แก่ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานกับโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา การจัดการอบรมบุคลากรการจัดหาชุดทดสอบเชื้อในภาคสนาม (Test Kit) เพิ่มความรวดเร็วในการตรวจหาเชื้อ การสนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อและการเผยแพร่รายงานสถานการณ์ประจำวันของสำนักระบาดวิทยา เพื่อเป็นตัวอย่างในการเฝ้าระวังป้องกันโรคของไทยแก่ทั่วโลกด้วย
*********************************** 13 ตุลาคม 2557