รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลลุโบะสาวอ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส  เน้นบริการเชิงรุกสร้างสุขภาพ โดยตั้งทีมพยาบาล แก้ปัญหาแม่ตายระหว่างคลอดจากการตกเลือด และดูแลส่งเสริมสุขภาพช่องปาก ป้องกันเด็กฟันผุ 

เย็นวันนี้ (22กันยายน 2557)นายแพทย์สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ธีรพล โตพันธานนท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเขตสุขภาพที่ 12 ตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลลุโบะสาวอ (รพ.สต.) อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ที่ถูกลอบวางเพลิงเมื่อพ.ศ. 2556 เพื่อติดตามความพร้อมการให้บริการประชาชน และสร้างขวัญกำลังใจเจ้าหน้าที่

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีความห่วงใยสุขภาพประชาชนใน 5จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่พิเศษ โดยมีนโยบายเร่งรัดพัฒนาระบบให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพได้สะดวก รวดเร็ว พร้อมพัฒนาหน่วยบริการสุขภาพให้มีศักยภาพในการดูแลรักษาประชาชนใกล้บ้าน จากการเดินทางมาตรวจเยี่ยมที่รพ.สต.ลุโบะสาวอ ซึ่งงดให้บริการที่รพ.สต.ชั่วคราวเพื่อซ่อมแซมอาคารชั้นล่างที่ถูกลอบวางเพลิง โดยใช้งบประมาณ 2 ล้านบาท โดยระหว่างซ่อมแซมได้จัดบริการประชาชนที่มัสยิดลุโบะสาวอแทน เพื่อให้ชาวตำบลลุโบะสาวอซึ่งมี 6,731คน รวม 1,214หลังคาเรือน และมีเจ้าหน้าที่ทั้งหมด 7คน ทุกคนมีขวัญกำลังใจดี ปฏิบัติงานอย่างเสียสละ โดยจะเปิดให้บริการที่รพ.สต.เต็มรูปแบบตามปกติในวันที่ 1 ตุลาคม 2557 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ จังหวัดนราธิวาส มีปัญหาด้านสาธารณสุขหลายเรื่อง ที่ยังสูงกว่าพื้นที่อื่นๆ ได้แก่ อนามัยแม่และเด็ก พบมารดามีภาวะซีดสูงกว่าร้อยละ 15 ขณะที่พื้นที่อื่นไม่เกินร้อยละ 10 ส่งผลให้แม่เสียชีวิตขณะคลอดสูงจากการตกเลือด ในปีนี้พบถึง 6 ราย และพบเด็กมีฟันผุมากกว่าร้อยละ 70 สูงกว่าพื้นที่อื่น 2-3 เท่าตัว รวมทั้งปัญหาเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูงมากขึ้น เนื่องจากรับประทานอาหารรสเค็มและหวานจัด จากอาหารท้องถิ่น และยังมีปัญหาโรคไข้เลือดออกติดอันดับ 1 ใน 10 ของประเทศ

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขกล่าวต่อไปว่า ในการแก้ไขปัญหา ได้เน้นให้จัดบริการเชิงรุก โดย ตั้งพยาบาลและอสม.อนามัยแม่และเด็ก (Mother&Child Nurse) ทำหน้าที่ออกไปเจาะเลือดหญิงตั้งครรภ์ถึงบ้านเพื่อค้นหาและป้องกันภาวะซีด และเน้นให้ฝากครรภ์เร็วขึ้นตั้งแต่ก่อนอายุครรภ์ 12สัปดาห์เพื่อให้การดูแลครรภ์ตั้งแต่เนิ่นๆ โดยมีอสม.ร่วมติดตามให้มาตรวจครรภ์ตามนัดอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งให้พยาบาลช่วยดูแลส่งเสริมสุขภาพช่องปาก ส่วนทันตาภิบาลจะให้ทำหน้าที่ในการดูแลรักษาขั้นต้น ในรพ.สต.   

ทั้งนี้ ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะมีพยาบาลประจำรพ.สต. จากโครงการผลิตพยาบาลเพิ่มแก้ปัญหาขาดแคลนชายแดนภาคใต้ 3,000 คน กระทรวงสาธารณสุขจะนำศักยภาพของพยาบาลเหล่านี้ มาใช้ในการส่งเสริมสุขภาพประชาชน เนื่องจากเป็นคนในพื้นที่มีความเข้าใจวัฒนธรรม วิถีชีวิตของคนในพื้นที่เป็นอย่างดี จะสามารถสื่อสารสร้างความเข้าใจในการดูแลสุขภาพได้ดี

กันยายน 5/2 ***************************************** 22 กันยายน 2557



   
   


View 17    22/09/2557   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ