สธ. ปรับ 5 มาตรการด้านการแพทย์และสาธารณสุข รับมือฝุ่น PM 2.5 เน้นสื่อสารความรู้ ดูแลกลุ่มเสี่ยง จัดอุปกรณ์สนับสนุน พร้อมเชิญชวน “ลดเผา ลดธูป ลดฝุ่น ในช่วงเทศกาลตรุษจีน”
- สำนักสารนิเทศ
- 171 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข ตั้งศูนย์เชี่ยวชาญอุบัติเหตุทุกเขตสุขภาพ ช่วยชีวิตผู้บาดเจ็บได้ถึงมือแพทย์รักษาอย่างรวดเร็ว พัฒนาบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ส่งทีมแพทย์ไปดูแลที่จุดเกิดเหตุทันเวลาภายใน 10 นาที นำส่งห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลและได้รับการผ่าตัดรักษาภายใน 30 นาที เร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเรียกใช้บริการสายด่วนกู้ชีพ 1669 เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยได้รับการดูแลและทีมแพทย์มืออาชีพ
นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ได้ประชุมบุคลากรการแพทย์ด้านการแพทย์ฉุกเฉิน ที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลเอกชนทั่วประเทศ เรื่องการพัฒนาศูนย์ความเชี่ยวชาญสาขาอุบัติเหตุประจำเขตสุขภาพ ทั้ง 12 เขต และกทม. ซึ่งเป็น 1 ใน 10 สาขาหลักตามแผนการพัฒนาระบบบริการของกระทรวงสาธารณสุข ให้เป็นบริการแบบไร้รอยต่อ มีคุณภาพ มาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่ดีใกล้บ้าน อย่างเท่าเทียมกัน ตั้งแต่การเจ็บป่วยเล็กน้อย จนถึงการรักษาที่ยุ่งยากซับซ้อนต้องใช้เทคโนโลยีระดับสูง จนอาการหายเป็นปกติ
นายแพทย์วชิระกล่าวต่อว่า ในการจัดบริการด้านอุบัติเหตุฉุกเฉิน ได้ให้ทุกเขตบริการสุขภาพจัดตั้งศูนย์เชี่ยวชาญด้านอุบัติเหตุประจำเขต เนื่องจากการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุยังคงเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทย โดยเฉพาะอุบัติเหตุทางจราจร มีอัตราเสียชีวิตสูงที่สุดในประเทศที่อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คิดเป็น 38 ต่อประชากรแสนคน จึงต้องเร่งแก้ไขทั้งการป้องกันเพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุ และพัฒนาระบบบริการรักษา เพื่อให้ผู้บาดเจ็บเข้าถึงโรงพยาบาลได้ทันเวลาและปลอดภัย ได้มอบนโยบายให้โรงพยาบาลทุกแห่งพัฒนาระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินให้เชื่อมโยงกัน 3 ระบบใหญ่คือ 1.ระบบบริการก่อนถึงโรงพยาบาลหรืออีเอ็มเอส (EMS.) ให้ประชาชนเข้าถึงบริการง่าย ทันเวลา และปลอดภัย โดยเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรู้จักและใช้บริการจากบุคลากรมืออาชีพ โดยแจ้งเหตุทางสายด่วนกู้ชีพหมายเลข 1669 ให้มากขึ้น และพัฒนารถพยาบาลกู้ชีพฉุกเฉินที่มีมาตรฐานระดับสูงเครื่องมือครบครัน ตั้งเป้าหมายทีมแพทย์ฉุกเฉินถึงจุดเกิดเหตุภายใน 10 นาทีให้ได้ร้อยละ 80 เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2557 เป็นต้นไป และจะมีการติดตามประเมินผลต่อเนื่อง
2.พัฒนาระบบบริการในโรงพยาบาลที่ห้องฉุกเฉิน ห้องผ่าตัดและห้องไอซียูอย่างมีคุณภาพ ผู้บาดเจ็บทุกราย ได้รับการดูแลรักษาจากแพทย์พยาบาลที่ห้องฉุกเฉินรวดเร็ว และได้รับการผ่าตัดรวดเร็วภายใน 30 นาที โดยขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมมือกับโรงพยาบาลขอนแก่น และราชวิทยาลัยศัลยแพทย์ ผลิตแพทย์เฉพาะทางด้านอุบัติเหตุฉุกเฉินเพิ่มขึ้น โดยโรงพยาบาลขอนแก่นผลิตได้ปีละ 5 คน ส่วนโรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผลิตปีละ 3 คน จะเร่งหาแนวทางเพิ่มการผลิตบุคลากรสาขานี้ให้มากกว่านี้ รวมทั้งมีระบบการสร้างขวัญกำลังใจของแพทย์ที่มีอยู่ และ3.การจัดเครือข่ายการบริหารจัดการ ให้พร้อมสนับสนุนการจัดบริการอุบัติเหตุฉุกเฉิน ทั้งนี้ได้ให้โรงพยาบาลต่างๆ นำหลักการพัฒนาระบบสุขภาพขององค์การอนามัยโลก มาใช้ในการพัฒนาคุณภาพระบบบริการทุกสาขาให้เป็นรูปแบบเดียวกันอย่างครบวงจร ได้แก่ 1.ระบบบริการ 2.กำลังคนด้านสุขภาพ 3.ระบบข้อมูลข่าวสาร 4.เทคโนโลยีทางการแพทย์ 5.แหล่งงบประมาณกลไกการเงินการคลัง 6.การอภิบาลระบบธรรมาภิบาล และ7.การมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพบริการ ลดความเหลื่อมล้ำ ตอบสนองต่อความต้องการ ประชาชนเข้าถึงบริการแบบไร้รอยต่อ
********* 5 กันยายน 2557