กระทรวงสาธารณสุข  เผยคณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ เห็นชอบ 4 มาตรการรับมือโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา  ได้แก่การจัดระบบเฝ้าระวังโรคทั้งในคนและในสัตว์  การดูแลรักษาผู้ป่วยและป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล  การพัฒนาการชันสูตรทางห้องปฏิบัติการ  และการบริหารจัดการร่วมหลายฝ่าย รวมทั้งฝ่ายความมั่นคงและฝ่ายปกครอง ส่วนกรณีที่เมียนม่าร์พบผู้สงสัยติดเชื้อไวรัสอีโบลา  ขณะนี้ไทยกำลังประสานข้อมูลใกล้ชิดกับเมียนม่าร์  ประชาชนไทยอย่าตระหนก การตรวจพบเช่นนี้ถือเป็นความไวของระบบการเฝ้าระวังโรค

วันนี้ (20 สิงหาคม2557) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า วันนี้ได้รับมอบหมายจากพลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการทหารเรือที่ปรึกษาด้านสังคมจิตวิทยา คณะรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ ให้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการ(คกก.)อำนวยการเตรียมความพร้อม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ  ครั้งที่ 1/2557 ซึ่งประกอบด้วยผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกรมควบคุมโรค กรมปศุสัตว์ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช  เนื่องจากปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่ มีผลกระทบต่อประเทศในหลายด้าน คณะกรรมการจึงจะพิจารณาปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่อย่างรอบด้าน  นอกเหนือจากมิติด้านการแพทย์และสาธารณสุข ให้ครอบคลุมไปถึงด้านเศรษฐกิจ และสังคมด้วย   โดยในวันนี้มีเรื่องพิจารณาที่สำคัญ 2 เรื่องคือ การเตรียมพร้อมของประเทศไทยสำหรับกรณีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา และการเตรียมพร้อมสำหรับโรคติดเชื้อโคโรน่าไวรัส สายพันธุ์ใหม่ 2012

          สำหรับโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา คณะกรรมการได้เห็นชอบกรอบมาตรการเตรียมความพร้อม 4 ด้านคือ 1.การจัดระบบเฝ้าระวังโรคทั้งในคนและในสัตว์ 2.การดูแลรักษาผู้ป่วยและป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล  มีการเตรียมห้องแยกผู้ป่วย การดูแลรักษาผู้ป่วยตามแนวทางมาตรฐาน รวมถึงการควบคุมการติดเชื้ออย่างเคร่งครัด 3.การพัฒนาระบบการตรวจชันสูตรทางห้องปฏิบัติการ  โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์รับผิดชอบร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ รวมทั้งมหาวิทยาลัย  ร่วมมือเป็นเครือข่ายห้องปฏิบัติการของประเทศ  และ4.การบริหารจัดการแบบบูรณาการหลายภาคส่วน โดยมีศูนย์ประสานปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน ซึ่งบูรณาการการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสามารถประสานสั่งการ เชื่อมโยงการทำงานทั้งประเทศ กรณีพบผู้ป่วยอีโบลา

สำหรับแนวทางปฏิบัติ ในการเฝ้าระวังโรค การดูแลรักษาผู้ป่วย และการควบคุมโรค  ได้จัดเตรียมสำหรับหลายสถานการณ์ ที่อาจเกิดขึ้นได้  ทั้งกรณีที่ยังไม่พบผู้ป่วยในประเทศ จนถึงกรณีที่พบผู้ป่วยในประเทศ  โดยเฉพาะในกรณีที่พบผู้ป่วยในประเทศ  จะต้องดำเนินการอย่างรวดเร็ว  ด้วยความร่วมมือจากหน่วยงานฝ่ายต่างๆ  รวมทั้งฝ่ายความมั่นคงและฝ่ายปกครอง  จึงมอบหมายให้ตั้งคณะทำงานจัดทำแนวทางปฏิบัติอย่างละเอียด โดยมีผู้แทนจากหลายฝ่าย รวมทั้งให้มีการซ้อมแผนการเตรียมความพร้อมในทุกจังหวัด

ที่สำคัญอีกเรื่องคือการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ให้ตั้งคณะทำงานจัดทำแนวทางปฏิบัติด้านการชันสูตรทางห้องปฏิบัติการ โดยมี ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประเสริฐ ทองเจริญ เป็นประธาน และมีผู้แทนจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัย และเครือข่ายห้องปฏิบัติการ  นอกจากนี้ในเรื่องการสื่อสารความเสี่ยง ให้ตั้งคณะทำงานเพื่อจัดทำแผนและประสานการดำเนินงาน โดยให้อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ เป็นประธาน  ส่วนด้านการบริหารจัดการแบบบูรณาการ  เพื่อควบคุมสถานการณ์กรณีเกิดการแพร่โรคในประเทศ ซึ่งอาจเป็นโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา โรคติดเชื้อโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2012  หรือโรคติดต่ออุบัติใหม่อื่นๆ  จะมีการใช้ พรบ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ควบคู่กับ พรบ.โรคติดต่อ  โดยให้กรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัย เป็นผู้ประสานและสนับสนุนปฏิบัติการ

          สำหรับเรื่องงบประมาณ ที่ประชุมได้รับทราบร่างข้อเสนอการของบประมาณ สำหรับการเตรียมความพร้อมรับมือโรคอีโบลาในระยะเฉพาะหน้า  รวมถึงการพัฒนาศักยภาพของประเทศ ในการป้องกันและแก้ปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่ในระยะกลางและระยะยาว  ในวงเงินกว่า 3,000 ล้านบาท  โดยสำนักงบประมาณได้ให้ข้อสังเกตและข้อแนะนำ ให้เร่งพิจารณาเสนอของงบประมาณสำหรับระยะเร่งด่วนก่อน   ซึ่งตั้งวงเงินไว้กว่า 100 ล้านบาท  โดยจะใช้จัดหาอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อสำหรับบุคลากรทางการแพทย์  เตรียมค่าตอบแทนความเสี่ยงภัย จัดหาอุปกรณ์และวัสดุทางห้องปฏิบัติการ  จัดการสื่อสารประชาสัมพันธ์  ส่วนงบประมาณสำหรับดำเนินการในระยะกลางและระยะยาว จะให้อนุกรรมการด้านวิชาการและยุทธศาสตร์ พิจารณาด้านแนวทางการพัฒนาและบูรณาการให้ชัดเจน

        นายแพทย์ณรงค์ กล่าวต่ออีกว่า สำหรับกรณีที่มีข่าวว่า พบผู้ป่วยสงสัยโรคอีโบลา ชาวเมียนม่าร์ เดินทางมาจากประเทศที่มีการระบาด แวะเปลี่ยนเครื่องบินในประเทศไทย ก่อนเดินทางต่อไปประเทศเมียนม่าร์  และตรวจพบว่าป่วยที่ประเทศเมียนม่าร์นั้น  ขณะนี้ได้ให้กรมควบคุมโรค ติดต่อประสานข้อมูลกับทางการเมียนม่าร์อย่างใกล้ชิด เพื่อทราบข้อเท็จจริง  ส่วนแนวทางการเฝ้าระวังโรคที่ได้จัดเตรียมไว้  จะสามารถติดตามตรวจสอบผู้โดยสารที่เดินทางร่วมไปในสายการบินเดียวกัน เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีปัญหา   นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้อธิบดีกรมควบคุมโรค ไปตรวจเยี่ยมระบบการเฝ้าระวังโรคที่จุดเข้าออกประเทศ  ว่าสามารถปฏิบัติการได้ตามระบบที่กำหนด   ขอให้ประชาชนติดตามข่าวสารจากกระทรวงสาธารณสุขเป็นระยะ ไม่จำเป็นต้องตระหนก  กรณีที่ประเทศเมียนม่าร์ตรวจพบป่วยที่ผู้อยู่ในข่ายสงสัย ถือว่าเป็นความไวของระบบการเฝ้าระวังโรค  ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการป้องกันและควบคุมโรค

          ************************************* 20 สิงหาคม 2557



   
   


View 8    21/08/2557   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ