“สมศักดิ์” เตือนค่าฝุ่น PM 2.5 ยังสูงเกินมาตรฐานถึง 15 ม.ค.นี้ ห่วง 38 ล้านคนรับผลกระทบ ออก 4 ข้อสั่งการรับมือ
- สำนักสารนิเทศ
- 358 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข เผยยังคงทีมแพทย์ในพื้นที่เกิดเหตุตึกถล่มที่ตำบลคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ตลอด 24 ชั่วโมง ส่วนผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ที่นอนรักษาในโรงพยาบาลทั้ง 5 ราย อาการพ้นภาวะวิกฤต ยังรักษาในไอซียู 2 ราย ทั้งหมดมีภาวะกระดูกแตกหัก ส่งทีมจิตแพทย์เยียวยาจิตใจผู้บาดเจ็บ และญาติผู้เสียชีวิต และสูญหาย
วันนี้ (13 สิงหาคม 2557) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี ผู้อำนวยการโรงพยาบาล (รพ.) ปทุมธานี โรงพยาบาลชุมชนในจังหวัดปทุมธานี ทีมแพทย์กู้ชีพ กู้ภัยจากมูลนิธิฯ เพื่อร่วมกันประเมินติดตามสถานการณ์กรณีตึก 6 ชั้นถล่มที่ตำบลคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2557 ที่ผ่านมา และให้สัมภาษณ์ว่า ในวันนี้เป็นการพูดคุยสรุปสถานการณ์ และข้อขัดข้องในการดำเนินงาน เพื่อวางแผนพัฒนาระบบการทำงานรับมือสาธารณภัยในอนาคต ซึ่งทีมที่มาในวันนี้เป็นผู้ปฏิบัติงานจริงในพื้นที่ เหตุการณ์ครั้งนี้พบว่าโรงพยาบาลชุมชนในจังหวัดปทุมธานีมีความพร้อมในการรับเหตุการณ์ บริหารจัดการเบื้องต้นได้ โดยมีรพ.ปทุมธานีซึ่งเป็นหัวหน้าทีมในการสั่งการ รวมทั้งมีการประสานงานในระดับเขตคือรพ.พระนครศรีอยุธยามาร่วมกันดำเนินการ
นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อว่า สถานการณ์ในวันนี้ กระทรวงสาธารณสุขยังคงทีมแพทย์ในพื้นที่เกิดเหตุตลอด 24 ชั่วโมง ประสานการทำงานใกล้ชิดกับทุกหน่วยงาน มีทีมแพทย์ระดับผู้สั่งการเข้าไปร่วมประชุมวางแผนการทำงานร่วมกับทีมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ทีมวิศวกร และทีมกู้ภัย โดยยังคงภารกิจ 4 ด้าน คือ1.การดูแลการป่วยฉุกเฉิน เพราะทีมที่เข้าไปทำงานในพื้นที่มีโอกาสเป็นผู้ป่วย/ผู้บาดเจ็บได้ตลอดเวลา 2.การดูแลปฐมพยาบาลเบื้องต้นกลุ่มคนที่อยู่รอบๆ พื้นที่เกิดเหตุ 3.การค้นหาดูแลด้านสุขภาพจิต ทั้งผู้บาดเจ็บ และญาติ รวมทั้งญาติผู้เสียชีวิตและสูญหาย และ4.การตรวจพิสูจน์หลักฐานผู้เสียชีวิต
สำหรับจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ได้รับรายงานมีทั้งหมด 33 ราย โดยช่วยออกจากพื้นที่ตึกถล่มแล้ว 28 ราย กลับบ้านแล้ว 20 ราย ยังเหลืออยู่ในซากปรักหักพัง 5 ราย มีผู้เสียชีวิตที่ยืนยันพบศพ 3 ราย ขณะนี้มีผู้บาดเจ็บนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล 5 ราย ในโรงพยาบาล 3 แห่ง ทุกรายกระดูกแตกหัก แต่พ้นขีดอันตรายแล้ว และต้องรักษาตัวต่อเนื่อง ดังนี้ ที่โรงพยาบาลปทุมธานี 3 ราย มี 2 รายอยู่ในห้องไอซียู รายที่ 1 เป็นหญิงไทย อายุ 24 ปี ตั้งครรภ์ 3 เดือน กระดูกสะโพกข้างซ้ายแตก กระดูกไหปลาร้าข้างขวาหัก ปอดช้ำ แพทย์ผ่าตัดใส่โลหะดามกระดูกเชิงกรานแล้ว สัญญาณชีพปกติ วางแผนเอาเครื่องช่วยหายใจออก และติดตามเด็กในครรภ์ รายที่ 2 นายกล้าณรงค์ ปราบภัย อายุ 24 ปี เป็นรายล่าสุด ที่นำออกจากซากตึกที่ถล่มเมื่อเย็นวานนี้ (12 สิงหาคม 2557) โดยติดอยู่นาน 27 ชั่วโมง ผู้ป่วยรู้สึกตัวดี สัญญาณชีพดี มีกระดูกไหปลาร้าหัก กระดูกเชิงกรานข้างซ้ายแตก ได้ดึงกระดูกให้เข้าที่ และใส่เฝือกดามกระดูกไหปลาร้าไว้ รายที่ 3 เป็นชายชาวกัมพูชา อายุ 60 ปี กระดูกซี่โครง ซี่ที่ 2-8 หัก มีเลือดออกที่ปอดขวา กระดูกสันหลังหัก มีภาวะอัมพาตร่วมด้วย ผู้ป่วยรู้สึกตัวดี ใส่ท่อระบายเลือดช่องปอด วางแผนทำผ่าตัดกระดูกสันหลัง
ที่รพ.ธรรมศาสตร์ รังสิต 1 ราย เป็นชายไทยอายุ 32 ปี มีบาดแผล กระดูกต้นแขนข้างขวาหัก และเส้นเลือดที่แขนขวาฉีกและผ่าตัดต่อเส้นเลือดและใส่โลหะดามกระดูกต้นแขนไว้ ขณะนี้อาการปกติ และที่รพ.คลองหลวง 1 ราย เป็นชายไทยอายุ 38 ปี กระดูกสันหลังส่วนเอวหัก อาการปลอดภัย แพทย์วางแผนส่งไปรักษาที่รพ.ปทุมธานี ผู้ป่วยทั้งหมดได้รับการรักษาเต็มที่ตามมาตรฐาน ไม่ได้คำนึงถึงค่าใช้จ่าย ซึ่งขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น สำนักงานประกันสังคม ได้เข้ามาช่วยเหลือทั้งด้านร่างกาย สังคม จิตใจ โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ส่งทีมจิตแพทย์เข้าไปดูแลด้านจิตใจแก่ผู้บาดเจ็บและญาติ ญาติผู้เสียชีวิตและผู้สูญหายแล้ว โดยดูแลต่อเนื่องทั้งขณะพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลและเมื่อกลับไปอยู่บ้านในต่างจังหวัด
****************** 13 สิงหาคม 2557