สธ. ขยายผล “ธวัชบุรีและท่าวังผาโมเดล” แก้ปัญหายาเสพติดครบวงจรใน 10 จังหวัด เปิดตัว แอปฯ ล้อมรักษ์ ช่วยผู้ป่วยเข้าถึงบำบัดรักษา
- สำนักสารนิเทศ
- 169 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข คงระดับเฝ้าระวังไวรัสอีโบลาอย่างใกล้ชิด เผยจากการประเมินสถานการณ์ไทยมีโอกาสติดเชื้อต่ำ แต่เพื่อไม่ประมาทสั่งกำชับให้กรมควบคุมโรค ติดตามความคืบหน้าทุกวัน พร้อมยกระดับหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลง กำชับให้ผู้ตรวจราชการทุกเขต นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศเฝ้าระวังผู้ที่เดินทางกลับจากประเทศระบาดและมีไข้สูงเกิน 38 องศาอย่างใกล้ชิด ให้โรงพยาบาลทุกแห่งเน้นมาตรการป้องกันการติดเชื้อ และให้อสม.เผยแพร่ความรู้ในชุมชน ส่วนข่าวลือในโซเชียลมีเดียว่ามีชายชาวจันทบุรีสงสัยติดเชื้ออีโบลาหลังเดินทางกลับจากต่างประเทศ ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยันเป็นไข้เลือดออก อาการดีขึ้น
วันนี้ (1สิงหาคม 2557) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังประชุมรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข อธิบดีทุกกรม และผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ในการเตรียมความพร้อมป้องกันเชื้อไวรัสอีโบลา ว่า ข้อมูลสถานการณ์การระบาดของไวรัสอีโบลา ขององค์การอนามัยโลก พบการระบาดใน 3 ประเทศ ได้แก่ กินี ไลบีเรีย และ เซียร์ราลีโอน ในทวีปแอฟริกา ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ – 31 กรกฎาคม 2557 พบผู้ป่วยสะสมรวม 1,323 ราย เสียชีวิต 729 ราย โดยเป็นผู้ป่วยยืนยันทางห้องปฏิบัติการสะสม 909 ราย เสียชีวิต 485 ราย มีอัตราเสียชีวิตร้อยละ 60 – 90
นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อว่า จากประเมินความเสี่ยงโอกาสเกิดการระบาดในประเทศไทย พบว่าอยู่ในเกณฑ์ต่ำ แต่เพื่อความไม่ประมาท กระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมความพร้อมในการเฝ้าระวังโรค แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนกลาง มอบหมายให้กรมควบคุมโรค เปิดวอร์รูม ติดตามประเมินสถานการณ์การระบาดในต่างประเทศและความก้าวหน้าด้านการรักษาร่วมกับองค์การอนามัยโลก โดยให้รายงานผลทุกวัน หากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงรุนแรงขึ้นจะยกระดับการเฝ้าระวังให้สูงขึ้น พร้อมทั้งให้เฝ้าระวังติดตามผู้ที่เดินทางกลับมาจาก 3 ประเทศที่มีการระบาดที่ท่าอากาศยานนานาชาติทุกแห่ง ให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์รับผิดชอบในเรื่องการตรวจทางห้องปฏิบัติการ รวมทั้งระบบการป้องกันการติดเชื้อในห้องปฏิบัติการ โดยมีการประสานกับศูนย์ควบคุมโรคติดต่อของสหรัฐอเมริกาในการตรวจยืนยันเชื้อ รวมทั้งให้กรมการแพทย์เตรียมทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาด้านการรักษาแก่แพทย์ตลอด 24 ชั่วโมง เนื่องจากโรคนี้ยังไม่มีวัคซีนและยารักษาโดยเฉพาะ และให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ประสานขอความร่วมมือโรงพยาบาลเอกชน ในการเฝ้าระวังผู้ป่วย และเตรียมเอกสารให้ความรู้เกี่ยวกับไวรัสอีโบลาให้แก่ อสม. ทั่วประเทศ
สำหรับในส่วนภูมิภาค ได้มอบให้ผู้ตรวจราชการและนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเป็นผู้รับผิดชอบ ดำเนินการ 3 เรื่อง ได้แก่ 1.ให้เฝ้าระวังผู้ที่กลับจากประเทศที่มีการระบาด และมีอาการไข้สูงเกิน 38 องศาเซลเซียส ภายใน 21 วัน และให้ทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วเข้าสอบสวนโรคทันที 2.ให้ความรู้ประชาชน เรื่องโรคอีโบลาผ่านอสม.เพื่อไม่ให้เกิดความตื่นตระหนกและสร้างความตระหนักระมัดระวังมากขึ้น และ3.ให้โรงพยาบาลทุกแห่ง ทุกระดับ เคร่งครัดระบบการป้องกันการติดเชื้อตามมาตรฐานสากล ทั้งการรักษาและการตรวจทางห้องปฏิบัติการ การรายงาน การเตรียมรับสถานการณ์ดูแลผู้ป่วย โดยเฉพาะห้องแยก โดยในสัปดาห์หน้าจะประชุมวิดีโอทางไกล เพื่อชี้แจงมาตรการให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทราบอีกครั้ง ทางด้านนายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการติดตามกลุ่มผู้ที่เดินทางมาจาก 3 ประเทศที่มีการระบาด ที่ด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศ สนามบินสุวรรณภูมิ โดยการซักประวัติสุขภาพ วัดอุณหภูมิร่างกาย ตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นมา มีทั้งสิ้น 285 คน พบว่า ร้อยละ 73 ออกนอกประเทศเกินระยะเชื้อฟักตัว คือ 21 วันมาแล้ว และมีเพียง 79 คนที่ยังอยู่ในระยะฟักตัว ทั้งหมดสามารถติดตามอาการได้ทุกราย และเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2557 ผู้เดินทางเข้ามาเพียง 2 ราย ทั้งหมดยังไม่พบมีใครป่วย แต่อย่างใดก็ตามได้จัดเอกสารคำแนะนำการปฏิบัติตัวเมื่อเจ็บป่วย (Health Card) และสถานที่รักษา ทั้งนี้กรณีที่พบว่ามีไข้จะส่งตัวไปดูแลในห้องแยกที่สถาบันบำราศนราดูร ซึ่งมีทั้งหมด 7 ห้องและโรงพยาบาลราชวิถี ตามระบบทันที
ทั้งนี้ ประเทศไทยมีผู้ที่เดินทางมาจาก 3 ประเทศที่มีโรคระบาด ถือว่ามีน้อยมากสัปดาห์ละประมาณ 30 คน จึงประเมินว่ามีความเสี่ยงเกิดการแพร่ระบาดในประเทศต่ำ ส่วนคนไทยที่จะเดินทางไป 3 ประเทศนี้กระทรวงการต่างประเทศได้เตือนว่าควรหลีกเลี่ยงหากไม่จำเป็น ขณะเดียวกันโอกาสที่เชื้ออาจจะเข้ามาได้จากการนำเข้าสัตว์ป่าจากแอฟริกา ไม่พบการนำเข้าและขณะนี้กระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมได้เฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง
นายแพทย์โสภณ กล่าวต่อไปว่า สำหรับกรณีที่มีข่าวลือในโซเชียลมีเดีย ว่ามีชายไทยอายุ 39 ปี ชาวจันทบุรี เดินทางไปทำธุรกิจที่ต่างประเทศ และป่วยติดเชื้อไวรัสอีโบล่า และนอนรักษาในโรงพยาบาลเอกชนที่จังหวัดจันทบุรี จากการตรวจสอบพบว่าไม่เป็นความจริง ชายดังกล่าวเดินทางไปที่ประเทศโมซัมบิก ซึ่งไม่ใช่ประเทศที่มีการระบาดของไวรัสอีโบลา และกลับมาไทยภายใน 21 วัน แล้วมีไข้ ไปนอนรักษาที่โรงพยาบาลเอกชน ผลการตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่าเป็นไข้เลือดออกทั่วไป ไม่ใช่ไวรัสอีโบลาแต่อย่างใด
***************1 สิงหาคม 2557