“สมศักดิ์” เตือนค่าฝุ่น PM 2.5 ยังสูงเกินมาตรฐานถึง 15 ม.ค.นี้ ห่วง 38 ล้านคนรับผลกระทบ ออก 4 ข้อสั่งการรับมือ
- สำนักสารนิเทศ
- 465 View
- อ่านต่อ
อธิบดีกรมควบคุมโรค แนะวิธีกำจัดแมลงกระเบื้อง โดยให้ใช้สารไพรีทรอยด์พ่นยุงสูตรเดียวกับที่ใช้การพ่นยูแอลวีกำจัดยุงลาย ผสมน้ำฉีดพ่น ฤทธิ์ของสารเคมีจะทำให้แมลงตายภายใน 24 ชั่วโมง และมีฤทธิ์ตกค้างบนผนังอาคาร บ้านเรือน ประมาณ 6 เดือน ไม่เป็นอันตรายต่อคนและสัตว์เลี้ยง แนะนำประชาชนให้รักษาความสะอาดบ้านเรือน ดูแลบริเวณบ้านให้โล่งเตียน
จากกรณีมีข่าวพบแมลงกระเบื้องจำนวนมากเข้าไปอยู่ในวัดกำแพงเพชร จ.กำแพงเพชร ความคืบหน้าในเรื่องนี้ วันนี้ (15 กรกฎาคม 2557) นายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์ว่า แมลงกระเบื้องจัดเป็นด้วงปีกแข็งขนาดเล็กชนิดหนึ่ง มีความเป็นอยู่สกปรก สามารถนำเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุของโรคอาหารเป็นพิษมาสู่คนได้ 2 ชนิด ได้แก่ เชื้ออี.โคไล (Escherichia Coli : E. Coli) และเชื้อซาลโมเนล่า (Salmonella sp.) โดยเชื้อโรคจะติดมาตามขาและลำตัวของมัน หากปนเปื้อนในอาหารหรือน้ำดื่มจะทำให้เกิดอาการท้องเสีย ดังนั้นหากพบแมลงชนิดนี้ ขอแนะนำให้รีบกำจัดทันที ซึ่งในกรณีที่พบที่จังหวัดกำแพงเพชรนี้ได้สั่งการให้สำนักงานควบคุมป้องกันโรคจ.พิษณุโลก ลงไปตรวจสอบและดำเนินการกำจัดให้ถูกวิธี
การกำจัดแมลงกระเบื้องมี 2 วิธี คือวิธีถาวรและวิธีชั่วคราว วิธีกำจัดอย่างถาวร ให้ใช้สารเคมีที่มีชื่อว่า ไพรีทรอยด์ ชนิดไซฟลูทริน 1.5 เปอร์เซ็นต์ เดลตามิทริน 0.5 เปอร์เซ็นต์ หรือซัยเปอร์มิทริน 5 เปอร์เซ็นต์ เป็นต้น สารเหล่านี้เป็นสูตรน้ำมันละลายน้ำ หรือสูตรอีซี (EC) ซึ่งเป็นสารที่กระทรวงสาธารณสุขใช้ในการพ่นยุงตามปกติทั่วไป โดยผสมสารกับน้ำสะอาดในอัตราเดียวกับที่ใช้พ่นยูแอลวีกำจัดยุงลาย คือหากใช้สารชนิดไซฟลูทริน หรือชนิดซัยเปอร์มิทรินใช้ 1 ส่วนต่อน้ำ 3 ส่วน ถ้าเป็นชนิดเดลตามิทรินใช้ 1 ส่วนต่อน้ำ 9 ส่วน แล้วนำไปฉีดพ่นโดยใช้เครื่องพ่นแบบสูบอัดลมหรือแบบถังโยกก็ได้ โดยพ่นให้ละอองน้ำยาตกลงถูกตัวด้วง หรือพ่นบนพื้นผิวแหล่งที่อยู่อาศัยของด้วง เพื่อฆ่าระยะตัวหนอนด้วย โดยพ่นในปริมาณ 50 มิลลิลิตรต่อพื้นที่หนึ่งตารางเมตร เมื่อสารถูกตัวด้วงจะตายภายใน 24 ชั่วโมงและมีฤทธิ์ตกค้างบนผนังอาคาร บ้านเรือน ประมาณ 6 เดือน ด้วงจะได้ไม่มาเกาะอีก สารเคมีดังกล่าวไม่เป็นอันตรายต่อคนและสัตว์เลี้ยง อย่างไรก็ดี เมื่อพ่นสารใหม่ๆ ไม่ควรให้เป็ดไก่หรือสัตว์อื่นเข้ามาหากินใกล้ๆ พื้นที่พ่นจนกว่าจะแห้งดีแล้ว และสามารถพ่นซ้ำได้ทุก 6 เดือน
นายแพทย์โสภณกล่าวต่อว่า สารเหล่านี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้ในการพ่นยุงอยู่แล้ว ควรขอการสนับสนุนจากหน่วยงานเหล่านี้ เนื่องจากเป็นสารเคมีที่ใช้ในทางสาธารณสุข ซึ่งมีความปลอดภัยกว่าการใช้สารทางด้านการเกษตร และบุคคลากรในองค์กรเหล่านี้เป็นผู้ที่เคยผ่านการอบรมมาแล้ว จึงมีความรู้ทางด้านการใช้สารเคมีควบคุมพาหะนำโรคเป็นอย่างดี แต่หากจะซื้อหามาพ่นเองควรระมัดระวังการผสมและการพ่นเป็นอย่างดี ควรใส่ถุงมือและเสื้อผ้าที่ป้องกันสารปลิวมาสัมผัสผิวหนังด้วย โดยสามารถหาซื้อได้ที่ร้านขายอุปกรณ์การเกษตรทั่วไป ทั้งนี้ หากจะพ่นตามผนังอาคารบ้านเรือนที่ด้วงเคยมาเกาะก็สามารถทำได้ แต่ต้องเลือกใช้สารไซฟลูทริน แบบสูตรผงละลายน้ำหรือสูตรดับเบิลยูพี (WP) สารเคมีจะเกาะที่ฝาผนังได้ดี มีผลป้องกันได้ 6 เดือน
ส่วนวิธีกำจัดแบบชั่วคราว เพื่อป้องกันไม่ให้แมลงกระเบื้องเข้าไปในบ้าน สามารถทำได้ เนื่องจากแมลงชนิดนี้ชอบเล่นไฟนิออนตอนกลางคืน วิธีการคือให้ต่อหลอดไฟนิออน ห่างจากตัวบ้านประมาณ 5-10 เมตร สูงจากพื้นประมาณ 2 เมตร และให้นำแผ่นสังกะสี ทำเป็นโคมโค้งๆ ครอบเหนือหลอดไฟไว้ แล้ววางกะละมังบรรจุน้ำประมาณครึ่งกะละมัง ผสมกับผงซักฟอก 1-2 กำมือ คนให้ละลาย แต่ไม่ต้องให้มีฟอง วางไว้บนพื้นใต้หลอดไฟ เมื่อมีฝูงแมลงกระเบื้องมาเล่นไฟ และบินชนโคมไฟ ก็จะตกลงไปในกะละมัง เมื่อปีกเปียกน้ำผสมผงซักฟอก จะไม่สามารถไต่หรือบินขึ้นมาได้และจะจมน้ำตายในที่สุด ส่วนบ้านที่มีแมลงกระเบื้องบุกเข้าไปอยู่ในบ้านแล้ว ให้ใช้ไม้กวาดรวบรวมตัวด้วง แล้วนำไปใส่ในกะละมังบรรจุน้ำผสมผงซักฟอกที่กล่าวมา ด้วงจะตายเช่นกัน
ในการป้องกันไม่ให้แมลงกระเบื้องเข้าไปอาศัยอยู่ในบ้าน ขอให้ประชาชนรักษาความสะอาดบ้านเรือน ดูแลบริเวณบ้านให้โล่งเตียน กำจัดเศษใบไม้ทับถม เศษมูลสัตว์ที่จะทำเป็นปุ๋ยคอกควรตากแดดให้แห้ง แล้วเก็บไว้ในถุงมิดชิดหรือนำไปใช้ใส่ต้นไม้ทันที ทั้งนี้แมลงกระเบื้องชอบอาศัยอยู่ตามพื้นดิน เช่น ใต้ไม้ผุๆ ใต้ก้อนหิน ตามรังมด รังปลวก ตามกองใบไม้ทับถม และที่ที่มีเชื้อราขึ้น บางทีอาจพบอยู่ตามซากสัตว์เน่าเปื่อย ระยะตัวแก่จะออกหาอาหารในเวลากลางคืน
******************** 15 กรกฎาคม 2557