รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หารือผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ยืนยันมติการแบ่งปันเชื้อไวรัสไข้หวัดนกเพื่อผลิตวัคซีน จะต้องได้ผลประโยชน์เท่าเทียมกัน โดยได้รับการยืนยันจากผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกว่า ขณะนี้เชื้อไวรัสที่ส่งจากไทยและอินโดนีเซีย 5 ตัวอย่าง องค์การอนามัยโลกได้พิจารณาแล้วเห็นว่า วิธีการที่บริษัทเอกชนเสนอจดสิทธิบัตร ไม่น่าจะได้ผลในการทำวัคซีน และไม่รับรองวิธีการดังกล่าว ส่วนเรื่องสิทธิบัตรที่ได้จากไวรัสอินโดและไทยนั้น ยังไม่มีการรับรองจากแห่งใดๆ รวมทั้งรับปากจะดำเนินการให้เกิดความโปร่งใสในการแบ่งปันไวรัสอย่างเต็มที่ นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ระหว่างการประชุมผู้บริหารโครงการเอดส์สหประชาชาติ ที่นครเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ วันที่ 25 มิถุนายน 2550 ได้หารือกับแพทย์หญิง มากาเร็ต ชาน (Dr.Margaret Chan) ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ในเรื่องมาตรการการแบ่งปันเชื้อไวรัสไข้หวัดนกเพื่อการผลิตวัคซีนป้องกัน ว่าประเทศไทยยังคงยืนยันสนับสนุนให้มีการแบ่งปันเชื้อไวรัส แต่จะต้องมีการแบ่งปันผลประโยชน์ให้ประเทศผู้ส่งเชื้ออย่างเท่าเทียมกัน โดยให้องค์การอนามัยโลกเป็นศูนย์กลางประสานประเทศสมาชิก เพื่อให้มีสิทธิในการใช้ประโยชน์จากไวรัสร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการทำชุดทดสอบเพื่อการวินิจฉัยโรค การทำวัคซีน หรือข้อมูลความรู้ที่ได้จากการศึกษาวิจัยต่างๆ ขณะนี้บางประเทศยังเกี่ยงในเรื่องผลประโยชน์ที่ตามมาหลังส่งเชื้อไวรัสแล้ว แต่ประเทศไทยจะเป็นตัวกลางในการผลักดันให้มีแบ่งปัน ทั้งไวรัสและผลประโยชน์ที่จะได้รับจากไวรัส ต้องทำควบคู่กันไป นายแพทย์มงคล กล่าวต่อว่า เรื่องนี้มีการผลักดันในเวทีประชุมสมัชชาอนามัยโลกประจำปีนี้ และประชุมหลายครั้งในชุดย่อยๆ เพื่อหามาตรการออกมา คาดว่าจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนในเร็วๆนี้ ว่าการแบ่งปันผลประโยชน์และแบ่งปันไวรัส จะมีหลักเกณฑ์อย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดข้อขัดแย้ง ทั้งนี้เชื้อไวรัส 5 ตัวที่ส่งจากประเทศไทย 4 ตัว และจากอินโดนีเซีย 1 ตัว ที่มีข่าวว่าได้มีนักวิทยาศาสตร์สหรัฐอเมริกา นำเชื้อไวรัสไปรายงานในธนาคารพันธุกรรมไวรัส หรือจีนส์แบงค์ โดยไม่ได้ระบุแหล่งที่มาของไวรัสว่า มาจากประเทศไทย และมีบริษัทโปรติลิกซ์ ของสหรัฐอเมริกา ได้นำเชื้อบางส่วนจากธนาคารพันธุกรรมไปพัฒนาวิธีการผลิตวัคซีนและจดสิทธิบัตรด้วยนั้น ได้รับการยืนยันจากนางมากาเร็ตชานว่า ยังไม่มีการรับจดสิทธิบัตรแต่อย่างใด และนักวิชาการองค์การอนามัยโลกพิจารณาเห็นว่า แนวทางดังกล่าวน่าจะไม่ได้ผล และไม่ได้ให้การรับรองการผลิตวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดนกดังกล่าว มีเพียงการจดสิทธิบัตรในขั้นตอนของการสังเคราะห์วัคซีนเท่านั้น และรับปากว่าจะพัฒนาระบบการแบ่งปันไวรัสระบบใหม่ ให้มีความโปร่งใสเต็มที่ โดยจะให้มีการขยายผลการประชุมในระดับภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ ต่อจากการประชุมสมัชชาใหญ่แล้ว ในเรื่องการแบ่งปันไวรัสและวัคซีน นายแพทย์มงคล กล่าวต่ออีกว่า นอกจากนี้ ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ยังได้หารือเรื่องการควบคุมโรคเอดส์ มาลาเรีย วัณโรค ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านของไทย เนื่องจากเห็นว่าไทยมีศักยภาพในการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะปัญหาเรื่องการดื้อยาใน 3 โรคดังกล่าว ซึ่งต่อไปจะไม่มียารักษา เพราะไม่มีตำรับยาใหม่ที่ได้ผลดีกว่านี้อีกแล้ว ทำให้มีปัญหาเพิ่มขึ้น ทั้งการสิ้นเปลืองงบประมาณและการรักษาที่ยุงยากขึ้นไปอีก ราคายาก็สูง ควรจะมีการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง โดยกำหนดให้เป็นนโยบายระดับชาติ ซึ่งทางองค์การอนามัยโลกต้องการให้มีการประชุม โดยจะเชิญประเทศไทย ภูฏาน สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ที่กรุงเดลลี เพื่อแก้ไขปัญหาการดื้อยาให้สำเร็จ ***************************** 26 มิถุนายน 2550


   
   


View 10    26/06/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ