กระทรวงสาธารณสุข ตั้งคณะกรรมการศึกษาระบบรถพยาบาลฉุกเฉิน  เพื่อวางมาตรการและมาตรฐานความปลอดภัยให้แก่เจ้าหน้าที่ขณะปฏิบัติงานและผู้เจ็บป่วย ป้องกันปัญหาอุบัติเหตุ  เริ่มตั้งแต่มาตรฐานพนักงานขับรถ   จะออกใบขับขี่รถพยาบาลโดยเฉพาะ  ไปจนถึงพยาบาล รถพยาบาล ศูนย์สั่งการประสานติดตาม ข้อบ่งชี้การส่งต่อผู้ป่วย ความเร็วของรถ การจัดค่าตอบแทนเพิ่มพิเศษ รวมทั้งความร่วมมือจากประชาชนและสังคม เพื่อให้ผู้ป่วยถึงมือแพทย์ยังโรงพยาบาลปลายทางปลอดภัยที่สุด
นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการพัฒนาระบบรถพยาบาลฉุกเฉินของโรงพยาบาลที่อยู่ในสังกัดทั่วประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าเกิดอุบัติเหตุระหว่างปฏิบัติงานนำส่งผู้ป่วยอยู่เนืองๆเช่นที่ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ บุรีรัมย์ ว่า  ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งคณะกรรมการศึกษาและพัฒนามาตรฐานของระบบรถพยาบาลขึ้น 1 ชุดเป็นการเฉพาะ โดยมีผู้อำนวยการสำนักการสาธารณสุขฉุกเฉินเป็นประธาน  โดยในเรื่องของรถพยาบาลฉุกเฉินที่ใช้ในโรงพยาบาลที่อยู่ในสังกัดทั่วประเทศกว่า 800 แห่งซึ่งมีกว่า 2,500 คันขณะนี้สภาพค่อนข้างใหม่ มีสมรรถนะดีอยู่แล้ว   ที่สำคัญที่สุดคือการวางมาตรการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุอย่างเป็นระบบ สมบูรณ์แบบทุกขั้นตอน   เพื่อลดความสูญเสียและสร้างความเชื่อมั่นแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานบนรถพยาบาลฉุกเฉิน และผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย เป็นสำคัญ
  นายแพทย์วชิระกล่าวต่อว่า ในการศึกษาระบบดังกล่าวได้วางไว้ 7 เรื่อง ได้แก่ 1.พนักงานขับรถหรือพขร.ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญอันดับแรก  จะยกระดับมาตรฐานคนขับพยาบาลฉุกเฉินโดยเฉพาะ  พัฒนาหลักสูตรการขับรถพยาบาล และจัดอบรมตามสถานการณ์ต่างๆเหมือนจริง เพื่อออกใบขับขี่ให้เฉพาะรถพยาบาลเท่านั้น  รวมถึงมาตรการตรวจแอลกอฮอล์ ตรวจสารเสพติดก่อนขับ การทดสอบสุขภาพจิตปีละครั้ง  มีประกันชีวิตอุบัติเหตุหมู่  การจัดค่าตอบแทนเพิ่มพิเศษกว่าพนักงานขับรถราชการๆทั่วไป  2.พยาบาลที่ไปกับรถ ต้องมีทักษะประสบการณ์ การดูแลผู้ป่วยเฉพาะโรคหรือการบาดเจ็บของผู้ป่วยที่ส่งต่อ  โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ป่วยซึ่งสำคัญที่สุด มีประกันอุบัติเหตุหมู่ และค่าตอบแทนพิเศษ ทั้งนี้เพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน
3.เรื่องรถพยาบาล โครงสร้างตัวถังรถต้องแข็งแรง จะต้องตรวจเช็ค ติดตั้งจัดหาอุปกรณ์ความปลอดภัยตามเกณฑ์  ติดตั้งระบบจีพีเอส (GPS) สามารถติดตามตำแหน่ง ควบคุมความเร็ว ติดตั้งระบบสื่อสารสัญญาณภาพเพื่อติดตามอาการผู้ป่วย  4.ระบบของศูนย์สั่งการ ติดตั้งจีพีเอส ( GPS) ประจำรถ เพื่อสามารถติดตามตำแหน่งพิกัดของรถพยาบาล ควบคุมความเร็ว  และติดตั้งเครื่องติดตามอาการผู้ป่วย( Control monitor)  การคัดกรองอาการความรุนแรงของผู้ป่วยที่มีประสิทธิภาพ  และระบบประสานการจราจร ให้เกิดความคล่องตัวระหว่างการนำส่ง  5.เรื่องการส่งต่อผู้ป่วย( Refer )  ประกอบด้วยการซักซ้อมหลักเกณฑ์ เงื่อนไข ข้อบ่งชี้ของการส่งต่อผู้ป่วย   เพื่อลดความเสี่ยงต่อการส่งต่อในช่วงเวลาไม่เหมาะสม  และมีการแจ้งข้อมูลและทำความเข้าใจแก่ผู้ป่วย และญาติ ก่อนนำส่งต่อคร่าวๆ      6.มาตรฐานการขับรถพยาบาล มีการจำกัดความเร็วไม่เกิน 90 กม.ต่อชั่วโมง ให้ยึดกฎจราจรอย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยเป็นหลัก และ7.การขอความร่วมมือจากประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนน และสังคม ให้หลบและให้ทางรถพยาบาลฉุกเฉิน     ทั้งนี้คาดว่าจะประกาศใช้ในเร็วๆนี้
*************************************** 14 มีนาคม 2557


   
   


View 24    14/03/2557   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ