สธ. ขยายผล “ธวัชบุรีและท่าวังผาโมเดล” แก้ปัญหายาเสพติดครบวงจรใน 10 จังหวัด เปิดตัว แอปฯ ล้อมรักษ์ ช่วยผู้ป่วยเข้าถึงบำบัดรักษา
- สำนักสารนิเทศ
- 165 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข ขอความร่วมมือหน่วยงานผลิตน้ำประปาทุกชนิดทั่วประเทศ ให้ควบคุมคุณภาพมาตรฐานน้ำประปาให้ได้ตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก มีสารคลอรีนตกค้างระหว่าง 0.2-0.5 พีพีเอ็ม แนะให้รถบรรทุกน้ำส่งพื้นที่ภัยแล้ง ให้เติมคลอรีนให้คงอยู่ในน้ำ 2 พีพีเอ็ม ก่อนแจกจ่ายน้ำให้ประชาชน ส่วนถังเก็บกักน้ำในชุมชน เช่น ถังเก็บน้ำฝน ต้องเติมคลอรีนให้คงค่าอยู่ระหว่าง 0.2-0.5 พีพีเอ็มเท่าน้ำประปาหมู่บ้าน เพื่อฆ่าเชื้อโรค ป้องกันโรคอุจจาระร่วง ซึ่งเชื้อชนิดนี้เติบโตได้ดีในสภาพอากาศร้อน แล้งน้ำ
นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในช่วงหน้าร้อน ประเทศไทยมักประสบปัญหาภัยแล้ง และขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภคและบริโภค นอกจากนี้การระเหยของน้ำ จะทำให้แหล่งน้ำต่างๆมีสารแขวนลอยและสารเคมีที่มีอยู่ในน้ำเข้มข้นมากขึ้น รวมทั้งลักษณะของอากาศที่ร้อน ยังเหมาะแก่การเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์หลายชนิด อาจก่อให้เกิดโรคระบาดได้ โดยเฉพาะโรคระบบทางเดินอาหาร ซึ่งมีสาเหตุจากน้ำหรืออาหารมีเชื้อโรคปนเปื้อน เช่นอุจจาระร่วง บิด ไทฟอยด์ ในรอบ 2 เดือนปี 2557 ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ ทั่วประเทศพบผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันแล้ว 186,298 ราย เสียชีวิต 3 ราย
นายแพทย์ณรงค์กล่าวว่า ในการป้องกันโรคดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุขได้ขอความร่วมมือหน่วยงานที่ให้บริการน้ำประปาทั้งใน กทม. ภูมิภาค และประปาหมู่บ้าน ให้ควบคุมกระบวนการผลิตและการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานของน้ำประปาตามเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก คือให้มีสารคลอรีนซึ่งมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรคที่อยู่ในน้ำ มีความเข้มข้นระหว่าง 0.2–0.5 มิลลิกรัมต่อลิตรหรือพีพีเอ็ม (PPM : Part Per Million) และได้สั่งกำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ดำเนินการตรวจหาปริมาณสารคลอรีนตกค้างในน้ำประปาทุกชนิดที่อยู่ในพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ที่ประสบภัยแล้ง เพื่อเป็นการเฝ้าระวังและคุ้มครองความปลอดภัยสุขภาพของประชาชนอย่างต่อเนื่อง
ทางด้าน นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ในกรณีที่มีการจัดรถบรรทุกน้ำเข้าไปช่วยเหลือในพื้นที่ภัยแล้ง จะต้องล้างทำความสะอาดรถทุกครั้ง ก่อนบรรทุกน้ำใส่รถ ควรเปิดน้ำให้ไหลเต็มที่ระยะหนึ่ง เพื่อระบายน้ำหรือสิ่งปนเปื้อนที่ค้างอยู่ทิ้งก่อน ดูแลความสะอาดและป้องกันการปนเปื้อนระหว่างการรับน้ำ การขนส่งและการจ่าย สิ่งที่พึงตระหนักก็คือไม่ควรเติมคลอรีนก่อนหรือระหว่างบรรทุกน้ำ เพระคลอรีนจะทำลายพื้นผิวภาชนะ ทำให้ผุกร่อนได้ ควรเติมคลอรีนในน้ำ ก่อนแจกจ่ายให้กับประชาชน โดยให้มีคลอรีนตกค้างในน้ำ 2 พีพีเอ็ม และหากนำน้ำจากรถบรรทุกไปเติมในภาชนะเก็บกักน้ำของชุมชน ได้แก่ ถังเก็บน้ำฝน จะต้องเติมคลอรีนให้ตกค้างในน้ำอยู่ระหว่าง 0.2-0.5 มิลลิกรัมต่อลิตร โดยประชาชนที่มารับน้ำ ต้องใช้ภาชนะในการเก็บน้ำที่สะอาด มีฝาปิดมิดชิด และใช้น้ำอย่างประหยัด
ทั้งนี้ หากนำน้ำจากแม่น้ำลำคลองหรือบ่อน้ำตื้น มาใช้เพื่ออุปโภค บริโภค ต้องเน้นความสะอาดเป็นกรณีพิเศษ เนื่องจากปริมาณน้ำในแม่น้ำลำคลองลดลงส่งผลให้สาหร่ายมีปริมาณเพิ่มขึ้น ทำให้น้ำมีกลิ่นและรสไม่พึงประสงค์ ดังนั้นจึงควรปรับปรุงคุณภาพน้ำก่อน โดยเฉพาะน้ำบ่อตื้นที่ตั้งอยู่ในจุดไม่ถูกต้องตามหลักสุขาภิบาล คือ ไม่มีชานบ่อ ไม่มีฝาปิดบ่อ หรือตั้งอยู่ใกล้ห้องส้วม หรือใกล้ที่ทิ้งขยะและมลพิษต่างๆ ต้องปรับปรุงคุณภาพน้ำโดยประชาชนสามารถทำได้คือ ใช้สารส้มแกว่งในภาชนะที่เก็บน้ำ ตั้งทิ้งไว้ประมาณ 30 นาที จะทำให้สิ่งสกปรกที่อยู่ในน้ำจะแยกตัวจับเป็นกลุ่มก้อนเล็กๆและตกตะกอนลงไปนอนอยู่ที่ก้นภาชนะ น้ำส่วนบนจะใสขึ้นและใช้การได้ แต่หากจะใช้น้ำดังกล่าวมาดื่ม จะต้องต้มให้เดือดนานอย่างน้อย 1 นาทีก่อน ความร้อนจะฆ่าเชื้อโรคที่อยู่ในน้ำได้ 100 เปอร์เซ็นต์ และหากน้ำประปาที่ใช้มีกลิ่นของคลอรีน สามารถกำจัดกลิ่นง่ายๆคือ รองน้ำใส่ภาชนะที่สะอาดทิ้งไว้ประมาณ 30 นาที กลิ่นคลอรีนจะหายไป
****************************** 3 มีนาคม 2557