สธ. ขยายผล “ธวัชบุรีและท่าวังผาโมเดล” แก้ปัญหายาเสพติดครบวงจรใน 10 จังหวัด เปิดตัว แอปฯ ล้อมรักษ์ ช่วยผู้ป่วยเข้าถึงบำบัดรักษา
- สำนักสารนิเทศ
- 165 View
- อ่านต่อ
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เร่งรณรงค์ให้ประชาชนกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายทุกสัปดาห์ ชี้ช่วงอากาศเปลี่ยนฤดูจากหนาวสู่ร้อน ยุงลายจะชุมขึ้น และหิวโซ หลังจำศีลช่วงอากาศหนาว จะออกอาละวาดกินเลือดคน เพื่อวางไข่ อาจทำให้ไข้เลือดออกระบาดอย่างรวดเร็ว วัยรุ่นคือกลุ่มเสี่ยงถูกยุงกัด ย้ำเตือนบ้านจัดสรร ทาวน์เฮาส์ คอนโด แม้ไม่มีโอ่งเก็บน้ำในบ้าน แต่ยุงจะสามารถบินลงไปวางไข่ในคอห่านซิงค์น้ำได้เช่นกัน แนะให้ใช้น้ำต้มเดือดเทราดทุก 7 วัน คาดในปี 2557 นี้ หากประชาชนไม่ช่วยกำจัดยุงลาย จำนวนผู้ป่วยอาจพุ่ง 80,000-100,000 ราย รอบเกือบ 2 เดือนแรก มีผู้ป่วยแล้ว 1,433 ราย เสียชีวิตแล้ว 1 ราย
นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้ เข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านฤดูจากฤดูหนาวเข้าสู่ฤดูร้อน สภาพอากาศที่อบอุ่นขึ้น มีผลต่อการเพิ่มจำนวนยุง โดยเฉพาะยุงลายซึ่งเป็นตัวการแพร่เชื้อไข้เลือดออก เนื่องจากในช่วงที่อากาศหนาวเย็น และสภาพอากาศแห้ง มีผลต่อระบบการไหลเวียนเลือดของยุงไม่ดี และไม่มีแรงบินออกไปหากินเลือดคน ยุงจะใช้ชีวิตแบบจำศีล จึงไม่เอื้อต่อการแพร่พันธุ์ แต่เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นประมาณ 20 องศาเซลเซียส ระบบการไหลเวียนเลือดในยุงดีขึ้น ยุงลายจะรีบออกมากินเลือดคน อาจทำให้เกิดการแพร่เชื้อของโรคไข้เลือดออกได้อย่างรวดเร็ว และหากมีฝนตกในช่วงนี้ จะเพิ่มแหล่งวางไข่ยุง ทำให้จำนวนยุงลายเพิ่มขึ้นได้กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัดทั่วประเทศ เร่งรณรงค์กระตุ้นเตือนประชาชนให้กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในบ้าน เช่น ภาชนะเก็บน้ำใช้ แจกันไม้ประดับ เศษขยะ ภาชนะรอบบ้าน โรงเรียน โรงงาน สถานที่ทำงาน โรงพยาบาล ศาสนสถานต่าง ๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่พบผู้ป่วยในปีที่ผ่านมา ทำอย่างต่อเนื่องทุกสัปดาห์ ซึ่งในฤดูหนาวและถือว่าเป็นช่วงทองในการควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออก เนื่องจากอากาศเย็นและแห้ง ไม่มีน้ำฝนขังตามเศษภาชนะมากเหมือนฤดูฝน
นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อว่า ในปี 2557 นี้ ยังพบผู้ป่วยไข้เลือดออกอย่างต่อเนื่อง นักวิชาการคาดการณ์ว่าสถานการณ์โรคไข้เลือดออกจะไม่รุนแรงเช่นในปี 2556 ที่ผ่านมา ซึ่งพบผู้ป่วย 152,768 ราย เสียชีวิต 132 ราย สูงสุดในรอบ 20 ปีอย่างไรก็ตาม คาดว่าจำนวนผู้ป่วยอาจสูงถึง 80,000 - 100,000 ราย โดยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 17 กุมภาพันธ์ 2557 พบผู้ป่วยไข้เลือดออกแล้ว 1,433 ราย เสียชีวิต 1 ราย ที่น่าห่วงคือยังพบว่าประชาชนมีความเข้าใจที่ผิดว่า การควบคุมยุงลายเป็นหน้าที่ของอาสาสมัครสาธารณสุขและเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และเคยชินกับการมีลูกน้ำอยู่ในบ้าน หรือในภาชนะ เศษขยะในบริเวณบ้าน จึงไม่คิดจะลงมือกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายด้วยตนเอง จะรอให้เจ้าหน้าที่มาพ่นเคมีฆ่ายุงตามท่อระบายน้ำต่างๆ ตามแอ่งน้ำเสีย ซึ่งยุงที่อยู่ในแหล่งนี้เป็นยุงรำคาญที่กัดคนกลางคืน ไม่ใช่ยุงลาย ซึ่งจะต้องเร่งเปลี่ยนทัศนคติเหล่านี้ใหม่ว่า บ้านตนเอง ครอบครัวตนเอง คนในครอบครัวต้องเป็นคนดูแลเอง หรือที่เรียกว่า บ้านใครบ้านมัน
ด้าน นายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การแพร่เชื้อโรคไข้เลือดออก ที่พบส่วนใหญ่กว่าร้อยละ99 เกิดมาจากยุงลายกัดผู้ป่วย และที่เหลือเกิดจากยุงที่มีเชื้อไข้เลือดออกอยู่แล้ว จากการวิเคราะห์ข้อมูลสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปี 2556 พบว่า กลุ่มป่วยเป็นไข้เลือดออกมากที่สุดคือวัยรุ่นอายุ 15-24 ปีคิดเป็นร้อยละ 29 รองลงมาคือในกลุ่มเด็กอายุ 10-14 ปีร้อยละ 21 กลุ่มเด็กอายุ 5-9 ปีร้อยละ 14 กลุ่มผู้ใหญ่อายุ 25-34 ปีร้อยละ 13 ปีนี้วัยรุ่นก็ยังเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงก็เช่นกัน เนื่องจากมีวิถีชีวิตที่มีความเสี่ยงจะโดนยุงลายกัดเพิ่มมากขึ้น เช่น การทำกิจกรรมนอกห้องเรียน การรวมกลุ่มเล่นเกมในร้านคอมพิวเตอร์ หรืออยู่ในสถานที่บันเทิงเป็นเวลานาน เป็นต้น ในปีนี้กรมควบคุมโรค จึงได้ตั้งเป้าหมายการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในสถานที่สำคัญ 5 แห่ง หรือ 5 ร. คือ โรงเรือน โรงเรียน โรงพยาบาล โรงแรม/โรงงาน โรงธรรม วัด/มัสยิด/โบสถ์ และพัฒนาศักยภาพทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว หรือ เอสอาร์อาร์ที (SRRT) ทุกระดับ เพื่อลงควบคุมโรคในพื้นที่ที่มีรายงานพบผู้ป่วยไข้เลือดออกภายใน 24 ชั่วโมง และทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย พ่นสารเคมีฆ่ายุงตัวเต็มวัยภายในบ้านและรอบบ้านผู้ป่วยรัศมี 100 เมตร และพ่นซ้ำใน 7 วัน เพื่อไม่ให้ยุงหลงเหลืออยู่
“เรื่องที่น่าห่วงขณะนี้ พบว่าสภาพของสังคมเมืองเติบโตอย่างรวดเร็ว มีบ้านจัดสรร ทาวน์เฮาส์ คอนโดมีเนียมเพิ่มขึ้นจำนวนมาก บ้านสมัยใหม่นี้ มักจะมีมุ้งลวดป้องกันยุงมิดชิด มักไม่มีภาชนะเช่นโอ่งน้ำ เก็บน้ำในบ้าน แต่ยังลายสามารถพัฒนาตัว และหาแหล่งวางไข่ได้ ที่ตรวจพบแล้วคือวางไขในคอห่าน ซิงค์น้ำหรืออ่างล้างมือ ล้างหน้าทั่ว ๆ ไปได้ ฉะนั้นหากพบมียุงบินในบ้าน เป็นสัญญาณเตือนว่ามีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายอยู่ในบ้านแน่นอน และขอให้นึกถึงซิงค์น้ำ และรีบกำจัดยุงลาย โดยต้มน้ำให้เดือดและเทราดลงในซิงค์น้ำทุก 5-7 วัน เพื่อทำลายไข่ยุง ขณะเดียวกันยังพบไข่ยุงลายในจานรองน้ำของเครื่องทำน้ำเย็นชนิดคว่ำถัง ซึ่งนิยมตามโรงเรียน โรงอาหารต่างๆ ไข่ยุงลายยังอึด สามารถทนน้ำเย็น ทนหิมะได้เป็นเวลานานไข่จะสลบชั่วคราว หากอุณหภูมิเปลี่ยน จะกลายเป็นตัวยุงได้เช่นกัน ” นายแพทย์โสภณกล่าว
นายแพทย์โสภณกล่าวต่อว่า ขณะนี้ ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก วิธีที่ดีที่สุดคือการป้องกันไม่ให้ป่วย ไม่ให้ตาย โดยให้ประชาชนทุกคน ทุกครัวเรือน ช่วยกันกำจัดลูกน้ำยุงลายที่บ้าน ป้องกันโรคไข้เลือดออกได้ด้วยตัวเอง โดยเฉพาะลูกน้ำ เจอปุ๊บ ต้องกำจัดปั๊บ ไม่รีรอปล่อยจนกลายเป็นตัวยุง ขัดล้างภาชนะนั้นเพื่อให้ไข่ยุงที่ติดอยู่หมดไป และดูแลบ้านเรือนไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย ติดมุ้งลวดที่ห้องนอน และป้องกันตัวเองไม่ให้ยุงกัด โดยสวมใส่เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว ใช้ยาทากันยุง นอนในมุ้ง
หากป่วย มีอาการไข้สูงลอยทั้งผู้ใหญ่และเด็ก กินยาพาราเซตามอลลดไข้แล้ว ไข้ยังไม่ลด ไม่ไอ ไม่มีน้ำมูกซึ่งต่างจากการเป็นหวัดที่จะมีน้ำมูกร่วมด้วย ร่วมกับคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร อาจมีจุดเลือดออกที่ผิวหนัง หรือเป็นทั้ง 2 โรคร่วมกัน ขอให้รีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษา และหากเป็นไข้เลือดออกแล้ว ช่วงระยะไข้ลดลงในวันที่ 3-4 ของการป่วย หากผู้ป่วยมีอาการซึมลง กินอาหารดื่มน้ำไม่ได้ อาจเข้าสู่ภาวะช็อก ขอให้รีบกลับไปพบแพทย์เพื่อรักษาอย่างทันท่วงที ป้องกันการเสียชีวิต ประชาชนที่มีความสนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง โทร 0 2590 3104-05, 0 2590 3132-33 หรือ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422” นายแพทย์โสภณ กล่าวเพิ่มเติม