สธ. ปรับ 5 มาตรการด้านการแพทย์และสาธารณสุข รับมือฝุ่น PM 2.5 เน้นสื่อสารความรู้ ดูแลกลุ่มเสี่ยง จัดอุปกรณ์สนับสนุน พร้อมเชิญชวน “ลดเผา ลดธูป ลดฝุ่น ในช่วงเทศกาลตรุษจีน”
- สำนักสารนิเทศ
- 175 View
- อ่านต่อ
นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในวันนี้ (30 มกราคม 2557) กระทรวงสาธารณสุข ได้มอบให้กรมควบคุมโรค เรียนเชิญผู้ได้รับรางวัลเจ้าฟ้ามหิดลประจำปี 2556 จำนวน 4 ท่าน มาแสดงปาฐกถาการดำเนินงานการป้องกันควบคุมโรคเอดส์จนประสบผลความสำเร็จระดับโลก เพื่อเป็นการให้ความรู้ความก้าวหน้าทางวิชาการในเรื่องดังกล่าวแก่ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการของประเทศไทยได้รับทราบ และนำมาพัฒนาระบบการควบคุมป้องกัน การดูแลรักษาผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยของไทยให้มีประสิทธิภาพ โดยจัดที่ห้องประชุมอัจฉรา ชั้น 2 สถาบันบำราศนราดูร เวลา 10.00-12.00 น.
สถานการณ์โรคเอดส์ในประเทศไทยล่าสุด สำนักระบาดวิทยารายงาน ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2555 ทีมนักวิชาการไทยคาดประมาณมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีโดยไม่มีอาการมากกว่า 1.2 ล้านคน มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ปีละประมาณ 10,000 คน และมีผู้ติดเชื้อได้รับยาต้านไวรัสประมาณ 2.5 แสนคน สำนักระบาดวิทยาได้รับรายงานผู้ป่วยเอดส์จากโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่พ.ศ. 2527-กันยายน 2555 ยอดผู้ป่วยสะสม 276,947 ราย ร้อยละ 65 อายุระหว่าง 30-44 ปี ส่วนใหญ่ร้อยละ 46 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป สาเหตุการติดเชื้อร้อยละ 85 มาจากเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย ผลการเฝ้าระวังการติดเชื้อเอชไอวี ล่าสุดในรอบเดือนมิถุนายน 2556 ใน 8 กลุ่ม พบอัตราการติดเชื้อมากสุดในกลุ่มใช้ยาเสพติดชนิดฉีดร้อยละ 13.82 รองลงมาคือกลุ่มชายขายบริการร้อยละ 8 กลุ่มชายตรวจกามโรคร้อยละ 4.42 กลุ่มหญิงขายบริการทางเพศโดยตรงร้อยละ 2 กลุ่มโสเภณีแฝงร้อยละ 1.96 กลุ่มหญิงฝากครรภ์ร้อยละ 0.56 กลุ่มแรงานต่างชาติร้อยละ 0.15 และโลหิตที่ได้รับบริจาคพบอัตราติดเชื้อร้อยละ 0.1
ด้านนายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับรางวัลเจ้าฟ้ามหิดล ปี 2556 ทั้ง 4 ท่าน จะแสดงปาฐกถาพิเศษร่วมกัน โดยมีนายแพทย์วิวัฒน์ โรจนพิทยากร ซึ่งเป็นผู้ได้รับรางวัลนี้ในปี 2552 ดำเนินการอภิปรายเรื่อง สถานการณ์เอชไอวี-เอดส์ในปัจจุบันและการตอบโต้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยความเชี่ยวชาญแต่ละท่านมีดังนี้ 1. ศาสตราจารย์นายแพทย์ เดวิด ดี. โฮ เป็นบุคคลแรกที่ผลักดันให้ใช้ยาต้านไวรัสเอชไอวีชนิดผสมหลายตัวในการรักษาผู้ได้รับเชื้อเอชไอวี โดยอาศัยผลการศึกษาวิจัยที่พบว่าเชื้อไวรัสเอชไอวี มีการแบ่งตัวอยู่ตลอดเวลา นำไปสู่แนวคิดการให้ยาต้านไวรัสเอชไอวีชนิดผสมหลายตัว ตั้งแต่ระยะแรกที่ตรวจพบ เพื่อควบคุมไวรัสไม่ให้แบ่งตัวจนทำให้เกิดการเจ็บป่วยตามมาได้
2.นายแพทย์แอนโทนี ฟอซี ผู้ศึกษาวิจัยกลไกการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี โดยแสดงให้เห็นว่า เชื้อไวรัสเอชไอวี มีการแบ่งตัวในต่อมน้ำเหลืองของผู้ได้รับเชื้ออย่างต่อเนื่อง และทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาวซีดีโฟว์ (CD4) ซึ่งเป็นภูมิคุ้มกันโรค ส่งผลให้ผู้ได้รับเชื้อมีภูมิคุ้มกันต่ำ เจ็บป่วยจากการติดเชื้อฉวยโอกาส นำไปสู่แนวคิดในการให้ยาต้านเชื้อไวรัสเอชไอวีชนิดผสมหลายตัวตั้งแต่ระยะแรก เพื่อควบคุมไวรัสไม่ให้แบ่งตัวจนทำให้เกิดการเจ็บป่วยตามมาได้ แรงผลักดันและแนวคิดของศ.นพ.เดวิด ดี. โฮ และนพ.แอนโทนี ฟอซี เป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลายและเป็นมาตรฐานการรักษาผู้ได้รับเชื้อเอชไอวีในปัจจุบันเปลี่ยนสภาพจากโรครอวันตายมาเป็นโรคเรื้อรัง ช่วยชีวิตผู้ได้รับเชื้อเอชไอวีได้หลายสิบล้านคนทั่วโลก
3.ศาสตราจารย์นายแพทย์ปีเตอร์ ปิอ็อต มีบทบาทในการศึกษาระบาดวิทยาของโรคเอดส์ในอัฟริกา ตั้งแต่ พ.ศ.2523 ต่อมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการบริหารโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติคนแรก ระหว่างพ.ศ. 2537 – 2551 มีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวรณรงค์ให้ประชาคมโลกตระหนักว่า โรคเอดส์จะแพร่กระจายและเป็นภัยร้ายแรงในอนาคต ผลักดันแต่ละประเทศยอมรับเป็นประเด็นสำคัญในการพัฒนาประเทศ และกดดันให้ปรับลดราคายาต้านไวรัส ทำให้มีการเข้าถึงการรักษาผู้ป่วยเชื้อเอชไอวีในประเทศยากจนได้มากขึ้น
4.นพ.จิม ยอง คิม เป็นผู้นำในการผลักดันให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาต้านไวรัสเอชไอวีอย่างถ้วนหน้า โดยผลักดันให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีในกลุ่มประเทศรายได้น้อยและรายได้ปานกลาง ให้ได้รับยาต้านไวรัสเอชไอวีชนิดผสมหลายตัว จำนวน 3 ล้านคน ซึ่งสามารถบรรลุผลได้ในปี 2550 รวมทั้งการปรับลดราคายาและการยอมรับยาที่ผลิตในบางประเทศ ซึ่งนพ.จิม ได้เดินทางกลับประเทศในวันนี้ จึงไม่ได้มาร่วมปาฐกถาในครั้งนี้
นายแพทย์โสภณกล่าวต่อไปว่า สำหรับผู้ดำเนินการปาฐกถาพิเศษคือ นพ. วิวัฒน์ โรจนพิทยากร เป็นผู้ริเริ่มโครงการถุงยางอนามัย 100 เปอร์เซ็นต์ ในจังหวัดราชบุรี เมื่อพ.ศ.2532 โดยการสร้างความเข้าใจถึงความจำเป็นของการป้องกันโรคเอดส์แก่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จนสามารถส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัยแบบผูกขาด ให้หญิงบริการทั้งจังหวัดปฏิเสธลูกค้าที่ไม่ใช้ถุงยางอนามัย ส่งผลให้การติดเชื้อเอดส์ในหญิงบริการลดลง และสามารถป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อเอดส์ในสังคม และได้ขยายโครงการถุงยางอนามัย 100 เปอร์เซ็นต์ไปยังจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ นอกจากนี้ ยังได้นำโครงการถุงยางอนามัยไปใช้อย่างแพร่หลายในหลายประเทศ ได้แก่ ประเทศกัมพูชา พม่า จีน มองโกเลีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และลาว ซึ่งปรากฏผลสำเร็จด้วยดีเช่นกัน องค์กรระหว่างประเทศ เช่น องค์การอนามัยโลก ธนาคารโลก ยูเอ็นเอดส์ (UNAIDS) ยูเอสเอดส์ (USAIDS) ให้การยอมรับว่าโครงการถุงยางอนามัย 100 เปอร์เซ็นต์ เป็นวิธีการเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อการป้องกันโรคเอดส์ที่ประสบความสำเร็จสูงมาก ซึ่งการดำเนินงานของผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับรางวัลทั้ง 4 ท่านข้างต้น กรมควบคุมโรคก็จะนำมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินงาน
ของกรมควบคุมโรคด้านการป้องกันควบคุมโรคเอดส์ในประเทศไทยต่อไป
ทั้งนี้ ประชาชนที่ประสบปัญหาจากโรคเอดส์ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน กรมควบคุมโรค โทร. 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง
************************************* 30 มกราคม 2557