กระทรวงสาธารณสุขตั้งทีมดูแลผู้ประสบภาวะวิกฤติระดับอำเภอ 853 ทีม ดูแลจิตใจผู้ประสบปัญหาที่เกิดจากเหตุชุมนุมการเมือง ปัญหาเศรษฐกิจ และจากภัยพิบัติ เพื่อป้องกันปัญหาฆ่าตัวตาย โดยมีเครือข่ายทำงานเชื่อมโยงลงถึงรพ.สต.และอสม. ดูแลในหมู่บ้าน เผยทุกปัญหามีทางออก การฆ่าตัวตายไม่ใช้ทางแก้ที่ยั่งยืน แนะการป้องกันให้ประชาชนออกกำลังกาย พูดคุยกับคนในครอบครัวหรือผู้ที่ไว้ใจ หรือปรึกษาแพทย์

จากกรณีที่มีข่าวชาวนา 2 ราย ที่จังหวัดศรีสะเกษและจังหวัดร้อยเอ็ด ผูกคอตายจากความเครียด ระหว่างที่รอเงินจำนำข้าวเปลือก และต้องเป็นหนี้สินนอกระบบนั้น ความคืบหน้าในวันนี้ (29 มกราคม 2557) แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า จากข้อมูลกรมสุขภาพจิต ปี 2550-2553 พบคนไทยฆ่าตัวตายเฉลี่ยปีละ 5.9 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน ปี 2554 เพิ่มเป็น 6.03 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน และปี 2555 เพิ่มสูงถึง 6.2 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน หรือปีละ 3,700-3,900 ราย และพบว่ามีผู้ป่วยซึมเศร้าร้อยละ 2.3-2.7 คาดการณ์ว่าจะมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้า 1.5 ล้านคน เป็นหญิงมากกว่าชาย 2 เท่าตัว แต่มีอัตราการเข้าถึงบริการน้อยเพียงร้อยละ 29 ของผู้ป่วย เพราะประชาชนมีอคติไม่อยากพบจิตแพทย์ กลัวคนรอบข้างว่าเป็นบ้า ประกอบกับช่วงนี้เป็นประเทศไทยอยู่ในสถานการณ์การชุมนุมส่งผลกระทบหลายด้าน ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และอาจส่งผลกระทบถึงครอบครัว ทำให้เกิดความเครียดได้ง่าย เสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคซึมเศร้าและการฆ่าตัวตายได้

          กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมสุขภาพจิต ได้ตั้งทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤติ (MCATT) ในระดับอำเภอ ซึ่งปัจจุบันมีทั้งหมด 853 ทีม เป็นทีมสหวิชาชีพ ประกอบด้วย แพทย์ พยาบาลจิตเวช เภสัชกร นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ นักวิชาการสาธารณสุข ผู้ที่รับผิดชอบงานด้านสุขภาพจิต และผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การช่วยเหลือด้านจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤติ ทั้งที่เกิดจากเหตุชุมนุม และภัยพิบัติรูปแบบต่างๆ อย่างครอบคลุมและทั่วถึง ทีมดังกล่าวจะทำงานร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) นอกจากนี้ ในปี 2557 กระทรวงสาธารณสุขได้พัฒนาบริการการค้นหาและคัดกรองผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคซึมเศร้า เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการของผู้ป่วยซึมเศร้าเป็นร้อยละ 31 

แพทย์หญิงพรรณพิมลกล่าวต่อว่า ผู้มีปัญหาสุขภาพจิต โดยเฉพาะผู้ที่พยายามฆ่าตัวตาย มักจะถูกมองว่าเป็นคนโง่ อ่อนแอ ไม่เข้มแข็ง เป็นการเรียกร้องความสนใจ และมักจะถูกเยาะเย้ย ซ้ำเติม ทั้งที่จริงแล้ว ปัญหาการฆ่าตัวตายสามารถป้องกันได้โดยครอบครัวและคนใกล้ชิดต้องเอาใจใส่ สังเกตพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป รับฟังปัญหาอย่างไม่ตำหนิ วิพากษ์วิจารณ์ โดยปกติผู้ที่จะฆ่าตัวตายมักจะมีสัญญาณเตือนล่วงหน้า เช่น การเขียนจดหมายลาตาย การตัดพ้อ หรือทำร้ายตัวเอง แต่ก็มีบางรายที่ก่อนฆ่าตัวตาย ไม่ส่งสัญญาณอะไรเลย

ขอแนะนำประชาชนหากรู้สึกไม่สบายใจ วิตกกังวล นอนไม่หลับ รู้สึกหดหู่ท้อแท้ เบื่อไม่อยากพูดคุยกับใคร ไม่อยากทำอะไร ใจลอย ไม่มีสมาธิ เศร้า ต้องพยายามเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น หัดมองโลกในแง่ดีให้เป็นนิสัย พยายามออกกำลังกายให้ร่างกายแข็งแรงและสมองปลอดโปร่ง เพราะการออกกำลังกายเป็นการกระตุ้นการหลั่งสารแห่งความสุขได้อีกวิธีหนึ่งที่ทำได้ง่าย นอกจากนี้ ขอให้พูดคุยระบายความรู้สึกกับคนใกล้ชิด ก็จะช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบา เพราะปัญหาทุกเรื่องมีวิธีแก้ไขหาทางออกได้ หรือไปพบแพทย์ พยาบาลที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือโทรปรึกษาทางสายด่วน 1323 จะมีพยาบาลจิตเวชและนักจิตวิทยาให้คำปรึกษาตลอด 24 ชั่วโมง

  *************************************  29 มกราคม 2557



   
   


View 8    29/01/2557   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ