ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนอย่าชะล่าใจโรคอุจจาระร่วง เผยในช่วง 3 เดือนฤดูหนาวปีนี้ ตั้งแต่ตุลาคม 2556 - 13 มกราคม 2557 พบผู้ป่วย 210,906 ราย เสียชีวิต 1 ราย ส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และผู้สูงอายุ  65 ปีขึ้นไป ชี้อากาศเย็นแค่ชะลอการเติบโตของเชื้อโรคในอาหาร แนะนำประชาชนเก็บอาหารเหลือค้างมื้อในตู้เย็น และอุ่นให้เดือดก่อนรับประทาน ยึดหลักกินร้อน ใช้ช้อนกลาง และล้างมือ ขับถ่ายลงส้วม ล้างทำความสะอาดและนึ่งฆ่าเชื้อขวดนมและอุปกรณ์ชงนมของเด็ก เพื่อป้องกันโรคอุจจาระร่วง

          นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้เฝ้าระวังการเจ็บป่วยของประชาชนในช่วงฤดูหนาว ที่พบได้บ่อยทุกปีคือโรคอุจจาระร่วง จากรายงานการเฝ้าระวังโรคอุจจาระร่วงทุกจังหวัด ตั้งแต่เริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวในปีนี้ คือตั้งแต่ตุลาคม 2556 - 13 มกราคม 2557 พบผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วง  210,906 ราย เสียชีวิต 1 ราย ส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป เนื่องจากมีภูมิต้านทานโรคต่ำกว่ากลุ่มอื่น และหากป่วยอาการจะรุนแรงกว่าวัยอื่นๆ

          “สาเหตุของโรคดังกล่าว เกิดจากเชื้อโรคทั้งแบคทีเรีย ไวรัส  รวมทั้งเชื้อราที่ปนเปื้อนในอาหารและน้ำดื่ม  สิ่งที่อยากย้ำเตือนในช่วงอากาศหนาวเย็น  ประชาชนอาจชะล่าใจว่าอากาศเย็นแล้วอาหารจะไม่บูดเสีย  จึงไม่เก็บอาหารที่เหลือค้างมือในตู้เย็น และนำมารับประทานต่อโดยไม่อุ่นให้เดือดก่อน ซึ่งอาจทำให้ป่วยเป็นโรคนี้ได้ เนื่องจากความเย็นมีส่วนแค่ช่วยชะลอการเติบโตของเชื้อโรคในอาหารเท่านั้น ไม่ได้ทำให้เชื้อโรคตาย  ดังนั้นจึงขอให้เก็บอาหารเหลือค้างมื้อ ใส่ในตู้เย็นที่อุณหภูมิ -1 ถึง 8 องศาเซลเซียส และนำมาอุ่นให้เดือดก่อนรับประทานทุกครั้ง  ความร้อนจะฆ่าเชื้อโรคทุกชนิดที่อยู่ในอาหาร  โดยขอให้หลีกเลี่ยงรับประทานอาหารที่ปรุงสุกๆ ดิบๆ เช่นลาบ ก้อย ใช้ช้อนกลางตักอาหาร และล้างมือฟอกสบู่ก่อนรับประทานอาหารและหลังจากใช้ห้องน้ำห้องส้วม และถ่ายอุจจาระลงส้วมทุกครั้ง” นายแพทย์ณรงค์กล่าว   

          ด้านนายแพทย์โสภณ  เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า   สำหรับนมผสมของเด็กที่เหลือจากการดูด ไม่ควรเก็บไว้นานเกิน 2 ชั่วโมงในห้องอุณหภูมิปกติ และไม่เกิน 4 ชั่วโมงในห้องแอร์ เนื่องจากอุณหภูมินอกตู้เย็น เหมาะสมแก่การแบ่งตัวเพิ่มจำนวนเชื้อโรคที่มาจากปากและฟัน ส่วนนมแม่ที่กินเหลือหากวางไว้ในห้องแอร์อยู่ได้ 4 ชั่วโมง ถ้ายังไม่ได้กินอยู่ในห้องแอร์ได้ 8 ชั่วโมง เนื่องจากในน้ำนมแม่จะมีสารยับยั้งการแบ่งตัวของแบคทีเรีย ไม่ควรนำนมผสมและนมแม่ไปวางไว้ในที่อุ่นนม  เพราะการเก็บนมไว้ในที่อุณหภูมิสูง จะทำให้นมนั้นเสียเร็วยิ่งขึ้น

          ทั้งนี้ ควรเตรียมนมให้พอดีในแต่ละมื้อ ไม่ให้เหลือค้างขวด เพราะนมเป็นอาหารที่อุดมด้วยสารอาหารที่ทำให้เชื้อโรคเจริญเติบโตได้ดี จึงมีโอกาสบูดเสียง่าย และเปลี่ยนขวดนม ขวดน้ำ และจุกนมทุกครั้ง ล้างทำความสะอาดและนึ่งฆ่าเชื้ออุปกรณ์ เพราะการลวกน้ำร้อนไม่สะอาดเพียงพอ อาจทำให้เด็กท้องเสียได้ รวมทั้งหมั่นล้างมือให้เด็ก ทำความสะอาดของเล่นบ่อยๆ ปรุงอาหารเด็กให้สุกด้วยความร้อน ให้ดื่มน้ำต้มสุก อย่างไรก็ตาม ขอแนะนำให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวจนถึง 6 เดือนและต่อเนื่องไปจนถึง 2 ปีร่วมกับการให้อาหารเสริมตามวัย โดยให้ดูดนมจากอกแม่ ไม่ต้องใช้อุปกรณ์ใดๆ ซึ่งจะช่วยให้เด็กได้รับความอบอุ่นและปลอดภัยจากโรคอุจจาระร่วง

                นายแพทย์โสภณกล่าวต่อว่า ในการดูแลผู้ที่ป่วยโรคอุจจาระร่วงทั่วๆไป  ขอให้รับประทานอาหารตามปกติ ไม่ควรงดอาหาร เพื่อให้มีสารอาหารที่จำเป็นไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆในร่างกาย  แต่ควรเป็นอ่อน ย่อยง่าย เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก แกงจืด   และให้ดื่มผงน้ำตาลเกลือแร่โออาร์เอสแทนน้ำ หากอาการไม่ดีขึ้น ยังถ่ายบ่อย  อาเจียน  รับประทานอาหารไม่ได้ กระหายน้ำมากกว่าปกติ มีไข้สูง หรือถ่ายอุจจาระเป็นมูกปนเลือด ให้รีบไปพบเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือแพทย์ 

          ส่วนการดูแลในเด็กเล็ก ขอให้ป้อนอาหารเหลวบ่อยๆ เช่น น้ำข้าวต้ม น้ำแกงจืด และกินนมแม่ได้ตามปกติ กรณีของเด็กที่กินนมผสม ให้เจือจางนมผสมเหลือครึ่งหนึ่งของปกติที่เคยได้รับ จิบน้ำละลายผงน้ำตาลเกลือแร่บ่อยๆ และให้อาหารที่ย่อยง่าย เช่นโจ๊ก ข้าวต้ม  อาการเด็กจะค่อย ๆ ดีขึ้นเป็นปกติได้ภายใน 8-12 ชั่วโมง หากอาการไม่ดีขึ้น เช่น ถ่ายเหลวไม่หยุด เด็กซึมลง ปากแห้งมาก  ปัสสาวะสีเหลืองเข้ม ให้พาไปพบแพทย์โดยเร็ว

  *********************** 19 มกราคม 2557



   
   


View 15    19/01/2557   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ