กระทรวงสาธารณสุข เผยยุทธศาสตร์เขตบริการสุขภาพ ในการปฏิรูประบบบริการสาธารณสุข ผ่านไป 1 ปี ประเมินได้ผลดี ลดความแออัดได้ เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานทั้งระบบ ประชาชนพอใจ เน้นการบริหารจัดการร่วมอย่างมีธรรมภิบาล โปร่งใส ตรวจสอบได้ใน 4 ด้านคือ กำลังคน งบประมาณ การลงทุนร่วมและการจัดซื้อจัดจ้าง ในปีที่ 2 นี้จะเน้นการพัฒนาระบบบริการสุขภาพในเขตเมืองใหญ่ เช่นจังหวัดในเขตปริมณฑล

นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุข อยู่ระหว่างการปฏิรูปปรับโครงสร้างบทบาทหน้าที่ของหน่วยงาน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและคุณภาพระบบบริการสาธารณสุขของประเทศไทย เกิดประโยชน์กับประชาชนที่สุด และไม่ให้เกิดปัญหาค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในอนาคต โดยใช้ยุทธศาสตร์เขตบริการสุขภาพ เป็นการบริหารจัดการร่วมอย่างมีธรรมภิบาล โปร่งใส ตรวจสอบได้ใน 4 ด้านคือ กำลังคน งบประมาณ การลงทุนร่วมและการจัดซื้อจัดจ้างโดยเฉพาะยาและเวชภัณฑ์ที่มาใช่ยา และวัสดุวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยเริ่มดำเนินการมาครบ 1 ปีแล้ว อยู่ระหว่างการประเมินผลการดำเนินงาน เบื้องต้นจากการไปตรวจเยี่ยมแล้ว 3 เขตในภาคกลาง พบว่า ลดความแออัด และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานทั้งระบบ ประชาชนพอใจ

นายแพทย์ณรงค์ กล่าวต่อว่า ได้แบ่งพื้นที่ทั่วประเทศ เป็น 12 เขตบริการสุขภาพ เป็นการรวมกลุ่มจังหวัด 4-8 จังหวัดที่อยู่ติดกัน ดูแลประชากร 4-5ล้านคนร่วมกัน โดยมีการบริหารจัดการร่วม แบบเบ็ดเสร็จในเขต ทั้งการบริการขั้นพื้นฐานในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล การรักษาโรคที่ไม่ซับซ้อนในโรงพยาบาลอำเภอ และโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปสำหรับโรคที่ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน หรือเครื่องมือพิเศษ เป็นบริการแบบไร้รอยต่อของทั้งเขตบริการ ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนได้รับบริการใกล้บ้านขึ้นจนหายป่วย

ในเรื่องการลดความแออัด การรอคิวรักษาของประชาชน ที่เป็นปัญหาอย่างมากในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ซึ่งโรคบางอย่างอาจไม่ต้องมารักษาที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ได้สามารถพัฒนาร่วมกัน เช่น ที่โรงพยาบาลชลบุรี ต้องรับผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียปีละเกือบ 500 ราย เพื่อมาให้เลือด หากพัฒนาโรงพยาบาลชุมชนสามารถให้เลือดให้ยาขับเหล็กแก่ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียได้ ก็จะช่วยลดความแออัดได้อย่างน้อยปีละ 500 คน หรือโรคตาต้อกระจก ที่ส่งต่อมารักษามากเป็นลำดับ 2 ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ หากจักษุแพทย์ในจังหวัด ตกลงร่วมกันบริหารจัดการ ผู้ป่วย เช่นไปผ่าตัดที่โรงพยาบาลชุมชน ก็ไม่ส่งต่อไปนอนรักษาที่โรงพยาบาลใหญ่ เป็นการลดความแออัดลงได้นายแพทย์ณรงค์กล่าว

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการยกระดับขีดความสามารถและมาตรฐานการรักษาพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข เช่น โรงพยาบาลที่มีเตียงว่าง จะผ่าไส้ติ่ง แต่หากไม่มีหมอดมยา มาตรฐานวิชาชีพบอกว่าไม่ได้ ได้ให้ ผอ.รพ.สมุทรปราการ ซึ่งเป็นเลขาธิการแพทยสภา ประสานกับสำนักบริการสาธารณสุข (สบรส.) จัดทำมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุข ที่จะใช้พยาบาลวิชาชีพที่ผ่านการอบรมเรื่องการดมยาสลบทำงาน ทำหน้าที่แทนหมอดมยา ภายใต้การดูแลของแพทย์ ซึ่งจะทำให้สามารถจัดบริการดูแลประชาชนได้มากขึ้น

นายแพทย์ณรงค์ กล่าวอีกว่า ในปีที่ 2 ของการปฏิรูป จะเน้นการพัฒนาระบบบริการสุขภาพในเขตเมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพมหานคร และจังหวัดในเขตปริมณฑล ซึ่งมีลักษณะพิเศษ ต่างจากพื้นที่ทั่วไป ทั้งในเรื่องจำนวนประชากร การเคลื่อนย้ายประชากร จำนวนสถานบริการที่จะรองรับ รวมทั้งการเข้าถึงบริการด้วย โดยมอบหมายให้ นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขดูแล เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้ทุกที่ คุณภาพดีทุกครั้ง เท่าเทียมเป็นธรรมทุกคน

******************************** 16 มกราคม 2557



   
   


View 20    17/01/2557   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ