สาธารณสุข เตรียมแผนรับการชุมนุมใหญ่ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 9 ธันวาคม 2556 นี้ สำรองเตียงโรงพยาบาลรับผู้ป่วยฉุกเฉิน พร้อมบริการเต็มที่   จัดทีมแพทย์ฉุกเฉินชั้นสูงจากรพ.สังกัดกรมการแพทย์ รพ.รามาธิบดี และรพ.พระมงกุฎเกล้า รวม 10 ทีมและทีมปฏิบัติการขั้นพื้นฐานจากมูลนิธิป่อเต็กตึ้ง และร่วมกตัญญูเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บจากสนามอีกเกือบ 30 ทีม ให้ประชาชนโทรแจ้งทีมแพทย์ฉุกเฉินที่ 1646 หรือ 1669 
 
                บ่ายวันนี้(8 ธันวาคม 2556 ) ที่ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาสาธารณภัย ด้านการแพทย์และสาธารณสุขส่วนหน้า กระทรวงสาธารณสุข   ที่รพ.สงฆ์ กทม. นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข  พร้อมด้วยนายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ ประชุมวางระบบการรับมือการชุมนุมใหญ่ในวันที่ 9 ธันวาคม 2556 
 
          นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ ให้สัมภาษณ์ว่า ในการเตรียมการรับสถานการณ์ในวันที่ 9 ธันวาคม 2556 ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานในสังกัดและรพ.รามาธิบดี รพ.พระมงกุฎเกล้า และมูลนิธิป่อเต็กตั้งและมูลนิธิร่วมกตัญญู เพื่อสร้างความชัดเจนในการปฏิบัติงานร่วมกับศูนย์เอราวัณ กทม. และวิชระพยาบาล    
 
 นายแพทย์สุพรรณกล่าวว่า  กรมการแพทย์ได้ให้โรงพยาบาลในสังกัดที่อยู่ในกทม.ทุกแห่ง เตรียม 2เรื่องใหญ่ คือ 1. ให้รับดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินทุกกรณีไม่ว่าจะส่งโดยใครก็ตาม หากเกินกำลังความสามารถของโรงพยาบาลให้ประสานศูนย์บัญชาการส่วนหน้าที่โรงพยาบาลสงฆ์ เพื่อส่งรักษาต่อ    ประการที่ 2 ให้สำรองเตียงว่างรับผู้ป่วยฉุกเฉินอย่างน้อยละ 10 ของจำนวนเตียงทั้งหมดแต่ละแห่ง และห้องผ่าตัด เลือด อุปกรณ์เวชภัณฑ์ให้พร้อม
 
          ทางด้านนายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติ การป้องกันและแก้ไขปัญหาสาธารณภัยด้านการแพทย์และสาธารณสุขส่วนหน้า  โรงพยาบาลสงฆ์ กทม. กล่าวว่า ขณะนี้ได้แบ่งพื้นที่ปฏิบัติการรอบทำเนียบรัฐบาลออกเป็น 3 ส่วน โดยกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ดูแลทางด้านเหนือของคลองผดุงกรุงเกษม ทางฝั่งตะวันออกของถนนพระราม 5 ร่วมกับรพ.รามาธิบดี และรพ.พระมงกุฎเกล้า   ที่เหลืออยู่ในความดูแลของวิชระพยาบาล  สภากาชาด และศูนย์เอราวัณ กทม.
 
ที่เป็นห่วงคือ การลำเลียงผู้ป่วยฉุกเฉินออกจากพื้นที่ จะมีความยากลำบาก จึงขอให้ประชาชนโทรแจ้งที่หมายเลขโทรศัพท์ สายด่วนกู้ชีพ 1646 ของเอราวัณ และ 1669 ของศูนย์นเรนทร กระทรวงสาธารณสุข หรือแจ้งผ่านผู้ประสานภายในกลุ่มชุมนุมหรืออาสาสาสมัคร เพื่อแจ้งตำแหน่งผู้ป่วย 
 
 โดยในส่วนพื้นที่ของกระทรวงสาธารณสุข รพ.รามาธิบดี  และรพ.พระมงกุฎเกล้า ได้ตั้งจุดปฐมพยาบาลรักษาเบื้องต้น ที่บริเวณทางขึ้นทางด่วนยมราช และเป็นจุดรับส่งต่อผู้ป่วยจากที่ชุมนุมเพื่อไปจุดที่ปลอดภัยคือไปโรงพยาบาลต่างๆ จะมีสัญญานไฟวาบแสดงไว้ หากมีผู้ชุมนุมจำนวนมากจะเพิ่มจุดที่สี่แยกวัดเบญจมบพิตร ซึ่งจะมีโรงพยาบาลรับผู้ป่วย 5 แห่ง คือรพ.ราชวิถี รพ.รามาธิบดี รพ.พระมงกุฎเกล้า รพ.เลิดสิน และรพ.จุฬาลงกรณ์หรือรพ.สภากาชาด   และมีทีมกู้ชีพชั้นสูงปฏิบัติการรวม 10 ทีม และมีทีมกู้ชีพระดับพื้นฐานของมูลนิธิป่อเต็กตึ้งและร่วมกตัญญูอีกเกือบ 30 ทีมเข้าไปในพื้นที่เพื่อรับผู้ป่วยออกมา  หากมีความจำเป็นเพิ่ม ก็สามารถเรียกทีมแพทย์กู้ชีพชั้นสูงจากภูมิภาคได้เพิ่มอีก เช่นสมุทรสาคร สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรีเป็นต้น  
   
************************************   8 ธันวาคม 2556
 


   
   


View 11    09/12/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ