รัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงสาธารณสุขเตือนผู้ปกครองให้เพิ่มความระมัดระวังเด็กๆ ในวันลอยกระทงอาจพลัดตกน้ำ เสี่ยงต่อการจมน้ำและเสียชีวิตส่วนกลุ่มผู้ใหญ่ควรเลี่ยงการดื่มสุราและลงน้ำ เพราะเสี่ยงเกิดตะคริวง่าย    เผยวันลอยกระทงเพียงวันเดียวพบเด็กจมน้ำเสียชีวิตเฉลี่ย 7  คนมากกว่าช่วงปกติ 2 เท่าตัว  
 
          นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่าในช่วงเทศกาลลอยกระทงปีนี้ ซึ่งตรงกับวันอาทิตย์ที่ 17พฤศจิกายน 2556 มีความเป็นห่วงเรื่องอุบัติเหตุการจมน้ำ ซึ่งพบในช่วงเทศกาลวันลอยกระทงทุกปี จากข้อมูลในช่วง 10ปีที่ผ่านมา มีคนจมน้ำเสียชีวิตเฉพาะในวันลอยกระทงวันเดียว ตั้งแต่พ.ศ.2546-2555 จำนวนรวม 175 คน เป็นกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จำนวน 68 คน เฉลี่ยวันละเกือบ 7 คน มากกว่าช่วงปกติเกือบ 2 เท่าตัว นอกจากนี้หลังวันลอยกระทง 1 วัน จะพบเด็กจมน้ำสูงใกล้เคียงกับวันลอยกระทงคือ 62 คน กลุ่มเด็กที่จมน้ำพบเพศชายมากกว่าหญิงประมาณ 2 เท่าตัว กลุ่มเด็กที่จมน้ำเสียชีวิตมากที่สุดคืออายุ 5-9 ปี คิดเป็นร้อยละ 54 รองลงมาคืออายุ 10-14 ปีร้อยละ 27 และอายุต่ำกว่า 5 ปีร้อยละ 19 และจากสถิติที่ผ่านมายังพบว่าหากวันลอยกระทงตรงกับวันหยุดเสาร์-อาทิตย์  จะมีคนจมน้ำเสียชีวิตสูงกว่าวันธรรมดาเกือบ 3เท่าตัว
 
        นายสรวงศ์กล่าวต่อว่า ในการป้องกันอุบัติเหตุจากการจมน้ำ กระทรวงสาธารณสุขขอย้ำเตือนประชาชนที่จะพาบุตรหลานไปลอยกระทงให้เพิ่มความระมัดระวังให้มากขึ้น เนื่องจากเด็กจะอยู่ใกล้แหล่งน้ำมาก หากเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15ปีควรดูแลอย่างใกล้ชิดไม่ปล่อยให้เด็กอยู่ใกล้แหล่งน้ำตามลำพัง หรือยืนใกล้บริเวณขอบบ่อ ขอบสระเพราะอาจพลัดตกลงไปในน้ำได้และสิ่งที่พบเป็นประจำทุกปีคือ จะมีเด็กลงไปเก็บกระทงหรือเก็บเงินในกระทงที่ลอยในน้ำ ผู้ปกครองควรห้าม ไม่ปล่อยให้เด็กลงไปเก็บกระทงอย่างเด็ดขาดเพราะเด็กอาจจมน้ำเนื่องจากเป็นตะคริวเพราะอยู่ในน้ำเป็นเวลานานและสภาพอากาศหนาวเย็น
 
ด้านนายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรณีของร้านอาหารหรือสถานบันเทิงที่อยู่ริมแม่น้ำซึ่งส่วนใหญ่จะจัดให้มีท่าน้ำสำหรับให้แขกที่มานั่งในร้านลอยกระทงได้สะดวกผู้ใช้บริการและจะลอยกระทง ควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และลงน้ำเนื่องจากจะเสี่ยงเป็นตะคริวได้สูงหรือกรณีที่ผู้ปกครองนำบุตรหลานไปนั่งในร้านอาหารด้วย ต้องดูแลอย่างใกล้ชิดไม่ให้คลาดสายตา เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 3 ปีต้องอยู่ในระยะที่คว้าถึง การหันไปทำกิจกรรมต่างๆ เพียงเสี้ยววินาที โดยปล่อยให้เด็กลอยกระทงตามลำพังไม่ว่าจะเป็นในกะละมังหรือถังน้ำที่บ้านก็ตาม อาจทำให้เด็กจมน้ำเสียชีวิตได้  
 
สำหรับหน่วยงานที่จัดเตรียมพื้นที่ให้ประชาชนลอยกระทง ควรกำหนดให้ชัดเจน และต้องทำสิ่งกั้นขวาง เพื่อป้องกันเด็กตกน้ำ จัดให้มีผู้ดูแล และต้องเตรียมอุปกรณ์สำหรับช่วยคนตกน้ำให้พร้อม เช่นห่วงชูชีพ สามารถเข้าถึงได้ง่ายหากเกิดเหตุการณ์ และเขียนป้ายบอกวิธีการใช้ให้ถูกต้อง ผู้ที่ให้บริการทางเรือ ควรจัดเสื้อชูชีพให้พร้อม และคำนึงถึงการบรรทุกผู้โดยสารไม่ให้น้ำหนักเกิน หากพบคนตกน้ำต้องรู้วิธีการช่วยเหลือที่ถูกต้อง ห้ามกระโดดลงไปช่วยอย่างเด็ดขาดเพราะอาจจะทำให้ถูกกอดรัดและจมน้ำเสียชีวิตพร้อมกัน  การช่วยเหลือที่ถูกวิธีขอให้ยึดหลัก ตะโกน โยน ยื่น โดยเรียกให้ผู้ที่ว่ายน้ำเป็นมาช่วย หรือหาอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวมาช่วยเหลือเช่น ไม้ ถังแกลลอนเปล่า เชือกหรือสิ่งที่ยึดเหนี่ยวได้ นายแพทย์โสภณกล่าว
 
 *************************************** 16 พฤศจิกายน 2556


   
   


View 8    16/11/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ