วันนี้ (10 ตุลาคม 2556) นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขและคณะ ตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลบางคล้าให้กำลังใจเจ้าหน้าที่และติดตามการดำเนินงานช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย พร้อมมอบชุดนายสะอาด ประกอบด้วยสารส้ม หยดทิพย์ (คลอรีน) ถุงดำ ถุงจัดหนักสำหรับบรรจุอุจจาระ มอบถุงยังชีพ ประกอบด้วยน้ำพริก ปลากระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ขนม น้ำดื่ม รวม 1,000 ชุด ยาชุดผู้ประสบภัย2,100 ชุด และเจลล้างมือ น้ำมันหอมสมุนไพร/โลชั่นทากันยุง ขี้ผึ้งสมุนไพรรักษาโรคน้ำกัดเท้า 500 ชุด พร้อมทั้งคู่มือประชาชนป้องกันโรคน้ำท่วม ให้ผู้ประสบอุทกภัยที่วัดปากน้ำ อ.บางคล้า และลานตากข้าวเอนกประสงค์บ้านเนินเรียง ต.แหลมประดู่ อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา หลังจากนั้นเดินทางไปยังโรงพยาบาลพานทอง จ.ชลบุรี ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงาน

            นายแพทย์ประดิษฐกล่าวว่า ขณะนี้หลายพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วมจากฝนตกหนักและน้ำล้นตลิ่ง โดยปัจจุบันยังท่วมใน28จังหวัดได้รับผลกระทบ561,737 ครัวเรือน1.9 ล้านกว่าคนมีผู้เสียชีวิต  51ราย สูญหาย1 รายรัฐบาลมีความห่วงใยในความปลอดภัยของผู้ประสบภัยทุกคน ได้มอบหมายให้หน่วยราชการออกดูแล ช่วยเหลือ โดยมาตรการในการช่วยเหลือระยะแรกเป็นการดูแลเรื่องความเป็นอยู่สภาพแวดล้อม อาหาร น้ำ เป็นเรื่องสำคัญต้องเข้าไปดูแลก่อนตามปัญหาของแต่ละพื้นที่รวมทั้งเรื่องสุขภาพอนามัย ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ให้บริการทั้งในที่ตั้ง และจัดหน่วยหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกให้บริการผู้ประสบอุทกภัยในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเรื้อรังเช่นไตวายที่ต้องได้รับการล้างไต ได้มอบให้ทุกโรงพยาบาลที่มีผู้ป่วยโรคนี้ จัดรถรับส่งผู้ป่วยที่จำเป็นต้องมารับการฟอกไตที่โรงพยาบาล และส่งน้ำยาล้างไตไปให้ผู้ป่วยที่ล้างไตทางหน้าท้องถึงบ้าน ทั้งนี้ ได้มอบให้อสม.สำรวจที่อยู่ของผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้พิการ ผู้สูงอายุ เด็ก หญิงตั้งครรภ์ในชุมชนให้พร้อมอพยพได้ทันที
            นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่อว่า ในช่วงระยะ 10 วันแรกของน้ำท่วม ปัญหาที่พบจะเป็นเรื่องอุบัติเหตุมากกว่าโรคระบาดต่างๆ เช่น จมน้ำ ไฟดูด ของมีคมบาด รวมทั้งโรคที่พบได้ในช่วงน้ำท่วม เช่น โรคน้ำกัดเท้า ปวดเมื่อย ไข้หวัด โรคระบบทางเดินอาหาร รวมทั้งความเครียด สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ต้องดูแลคือโรคหลังน้ำท่วม เช่น โรคอุจจาระร่วง โรคไข้เลือดออก โรคฉี่หนู ได้กำชับให้ทุกจังหวัดวางแผนการให้ความช่วยเหลือประชาชนให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาของแต่ละพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมสูงและท่วมขังเป็นระยะเวลานาน ให้บริหารจัดการระบบขนส่งยาและเวชภัณฑ์รวมทั้งการเข้าถึงบริการของประชาชนโดยให้บูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ในพื้นที่
            ด้านนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ผลการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ตั้งแต่วันที่ 17 กันยายน 2556  เป็นต้นมา ได้ออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ 1,357 ครั้ง ผู้รับบริการ 73,973รายเยี่ยมบ้านผู้ประสบภัย 51,241 รายให้สุขศึกษา 80,872ราย  โรคที่พบอันดับ 1 คือ น้ำกัดเท้ารองลงมาปวดเมื่อยและปวดศีรษะด้านสุขภาพจิต ได้ประเมินทางจิตผู้ประสบภัย 6,201รายพบเครียดปานกลาง 855รายเครียดสูง 233 รายเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย 1 ราย ซึมเศร้า 9ราย และส่งยาชุดน้ำท่วมช่วยเหลือจังหวัดประสบภัยรวมกว่า 2 แสนชุด และสำรองไว้ส่วนกลาง 3 แสนชุดจัดส่งถุงดำ คลอรีน สารส้ม น้ำอีเอ็ม ครีมรักษาโรคน้ำกัดเท้า 2 แสนหลอด สำรองไว้ส่วนกลางอีก 3 แสนหลอด
            สำหรับจังหวัดฉะเชิงเทรา ประสบอุทกภัยใน 6 อำเภอ ประชาชนเดือดร้อน 12,090 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 2 ราย ได้จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกให้บริการประชาชนวันละ 3 หน่วย มีผู้รับบริการ 4,013 ราย แจกยาชุดน้ำท่วมให้ผู้ประสบภัย 15,000 ชุด ในส่วนของสถานพยาบาลไม่ได้รับผลกระทบ มีเพียงโรงพยาบาลบางคล้า มีน้ำท่วมรอบๆ โรงพยาบาลสูงประมาณ 70 เซนติเมตร เปิดบริการได้ตามปกติ ส่งผู้ป่วยอาการหนักไปรักษาที่โรงพยาบาลพุทธโสธร 4 คน เหลือผู้ป่วยนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล 14 ราย 
******************************** 10 ตุลาคม 2556
 


   
   


View 16    10/10/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ