วันนี้ (12สิงหาคม 2556)นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมคณะผู้บริหารสาธารณสุข เดินทางไปตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านพระเจดีย์สามองค์ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี และเยี่ยมชมโรงพยาบาลพญาโตงซู อ.พญาโตงซู จังหวัดกอกาเร็ก ประเทศพม่า ซึ่งเป็นโรงพยาบาลคู่แฝดกับโรงพยาบาลสังขละบุรี จ.กาญจนบุรี มีความร่วมมือด้านการรักษาพยาบาล เฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรคตามแนวชายแดนร่วมกันมานานกว่า10ปี

          นายแพทย์ณรงค์ กล่าวว่า จังหวัดกาญจนบุรีมีชายแดนติดกับประเทศพม่า 370 กิโลเมตร ประชาชนทั้ง 2ประเทศเดินทางติดต่อกันได้สะดวก ปัญหาโรคติดต่อที่เป็นปัญหาตามแนวชายแดนด้านนี้ คือโรคมาลาเรีย ในปีที่ผ่านมา พบผู้ป่วย 1,800 คน สูงเป็นอันดับ 2 ของประเทศรองจาก จังหวัดตาก โดยเป็นพม่าร้อยละ60 คนไทยร้อยละ40 พื้นที่เป็นปัญหา 3 อำ เภอได้แก่  อำเภอไทรโยค อำเภอพุร้อน และอำเภอสังขละบุรี 
          นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อว่า ในการดำเนินงานควบคุมป้องกันโรคมาลาเรียตามแนวชายแดนที่จังหวัดกาญจนบุรี ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนโลกปีละประมาณ 3-4 ล้านบาท เพื่อจ้างอาสาสมัครประจำหน่วยมาลาเรีย รวมทั้งจัดหาวัสดุอุปกรณ์ในการตรวจรักษาโรค โดยมีหน่วยมาลาเรียทั้งหมด 60 แห่ง และคลีนิกมาลาเรียอีก 25 แห่ง ให้บริการเจาะเลือดประชาชนในรายที่สงสัย เพื่อตรวจหาเชื้อและให้ยารักษาทันที  ขณะเดียวกัน จัดบริการเชิงรุกออกไปเจาะเลือดตรวจและรักษาในหมู่บ้านที่มีการแพร่ระบาดหรือในแคมป์คนงานที่มีแรงงานพม่าเข้ามาทำงาน พ่นสารเคมีกำจัดยุงก้นปล่องปีละ2 ครั้ง แจกมุ้งชุบสารเคมีป้องกันยุงกัด เป็นต้น
          “ปัญหาที่พบในผู้ป่วยชาวพม่า คือปัญหาเชื้อดื้อยา ซึ่งเกิดมาจากการซื้อยากินเอง เมื่อกินยาแล้วไม่หายหรือมีอาการหนักขึ้น    จึงจะมารักษาที่ประเทศไทย พบประมาณร้อยละ10 ของผู้ป่วยมาลาเรีย   ซึ่งขณะนี้ได้แก้ไขปัญหาเชื้อดื้อยา โดยให้กินยาอาทีซูเนทรักษา กินติดต่อกัน 3 วัน    โดยโรงพยาบาลจะให้ผู้ป่วยกินยาต่อหน้าเจ้าหน้าที่ทำให้การรักษา    ซึ่งทำให้อาการหายได้ร้อยละ 80 และให้ความรู้ประชาชนทั้งคนไทยและพม่า ” นายแพทย์ณรงค์กล่าว
          ทั้งนี้ โรคมาลาเรีย เป็นโรคติดต่อที่มียุงก้นปล่อง เป็นพาหะนำโรค มักพบในพื้นที่ป่าเขา ป่าทึบ ซึ่งไทยและประเทศเพื่อนบ้านมีความร่วมมือในการควบคุมป้องกันโรคร่วมกัน  โดยแรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานในไทย ต้องผ่านการตรวจเลือดหาเชื้อมาลาเรีย หากพบติดเชื้อมาลาเรีย จะให้การรักษาเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด โรคนี้ป้องกันได้โดยการป้องกันไม่ให้ยุงกัด นอนในมุ้ง ใช้ยาทากันยุง ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข อาสาสมัครสาธารณสุขออกให้คำแนะนำประชาชน เรื่องการป้องกันโรค รวมทั้งให้หน่วยมาลาเรียและคลินิกมาเรียที่มี 760 แห่งทั่วประเทศ บริการเชิงรุกออกค้นหาผู้ป่วยในพื้นที่ระบาด ซึ่งการเจาะเลือดตรวจใช้เวลาเพียง 15นาที ทราบผลและรักษาได้ทันที ข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุขในปี 2556  ตั้งแต่มกราคม ถึง 3สิงหาคม 2556 พบผู้ป่วยมาลาเรีย 9,196 ราย เสียชีวิต 6 ราย
 *********************************** 12 สิงหาคม 2556


   
   


View 19    12/08/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ