รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สั่งเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนก 2  สายพันธุ์  ทั้ง เอช 5 เอ็น 1 และเอช 7 เอ็น 9   ทั้งในสัตว์และในคน ในช่วงเทศกาลสงกรานต์วันหยุดยาว โดยให้ อสม. เฝ้าระวังผู้ป่วยที่ปอดบวมหลังจากกลับจากต่างประเทศ รวมทั้งสัตว์ปีกเลี้ยงตามบ้าน นกป่า และนกตามทุ่งที่ป่วยตายผิดปกติในหมู่บ้าน ให้โรงพยาบาลทุกแห่งเฝ้าระวัง ผู้ป่วยปอดบวมรุนแรงทุกรายเป็นกรณีพิเศษ ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขมีความพร้อมระบบการตรวจยืนยันเชื้อทางห้องปฏิบัติการและการดูแลรักษา  เน้นย้ำผู้ที่จะเดินทางไปต่างประเทศ ให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีก รวมทั้งนกธรรมชาติและถ้าไม่จำเป็นไม่ควรไปเดินในตลาดสดที่มีการค้าขายสัตว์ปีก  และให้ปฏิบัติตัวกินร้อน ช้อนกลาง และล้างมือ   รายใดที่มีประวัติสัมผัสสัตว์ปีกหรือสัมผัสผู้ป่วยปอดบวม และมีไข้ไอ ปวดเมื่อยตามร่างกาย ขอให้พบแพทย์     

            จากกรณีมีรายงาน พบประชาชนติดเชื้อและเสียชีวิตจากไวรัสไข้หวัดนก 2 สายพันธุ์ ใน 3 ประเทศในเอเชีย   คือพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เอช 7 เอ็น 9 ( H7N9)   รายใหม่ที่ประเทศจีน เพิ่มขึ้นในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาอีก 3 ราย  ทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมด 21 ราย เสียชีวิตแล้ว  6 ราย   ใน 4  มณฑลคือ เซี่ยงไฮ้ อายฮุย  เจ้อเจียง และเจียงจู  โดยมีผู้ป่วยจำนวน 12 รายมีอาการรุนแรง  ยังไม่พบการติดเชื้อในผู้สัมผัสกับผู้ป่วย  และพบผู้ติดเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ เอช 5 เอ็น 1 ( H5N1)  ที่เวียดนาม 1 ราย เป็นเด็กอายุ 4 ขวบ  เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาและที่กัมพูชา มีรายงานในปี 2556 นี้ มีผู้เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดนกสายพันธุ์เอช 5 เอ็น 1  จำนวน 8 ราย  ในจำนวนนี้เป็นเด็ก 6 รายนั้น

            ความคืบหน้าในเรื่องดังกล่าว วันนี้ (10 เมษายน 2556 ) นายแพทย์ประดิษฐ  สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ได้มอบหมายให้กรมควบคุมโรคติดตามสถานการณ์โรคในต่างประเทศกับองค์การอนามัยโลกอย่างใกล้ชิด โดยเชื้อไวรัสไข้หวัดนกที่แพร่มาจากสัตว์ปีกมาสู่คนทั้ง 2 สายพันธุ์คือ สายพันธุ์เอช 5 เอ็น 1 และสายพันธุ์ เอช 7 เอ็น 9   นี้ เป็นเชื้อไวรัสที่อยู่ในตระกูลของไข้หวัดใหญ่ชนิดเอทั้งคู่   จากข้อมูลทั่วโลกที่มีขณะนี้ ยังไม่พบหลักฐานการแพร่จากคนสู่คนและยารักษาผู้ป่วยที่มีใช้อยู่ขณะนี้คือยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์และซานามิเวียร์ยังใช้ได้ผลดี      โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ประชุมปรึกษาหารือผู้เชี่ยวชาญทั้งในและนอกกระทรวงสาธารณสุข กรมปศุสัตว์ มหาวิทยาลัยและผู้เชี่ยวชาญจากองค์การอนามัยโลก  ศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐอเมริกาด้านสาธารณสุข เพื่อประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่องและให้คำแนะนำในการเตรียมความพร้อมรับมือกับการระบาดของโรคไข้หวัดนกทั้ง 2 สายพันธุ์      

            นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่อว่า  แม้ว่าประเทศไทยจะยังไม่เคยพบผู้ติดเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์เอช 7 เอ็น 9 รวมทั้งไม่พบผู้ป่วยติดเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์เอช 5 เอ็น 1  ในประเทศ ติดต่อกันมาเกือบ 7 ปี  และไม่พบการติดเชื้อในสัตว์ปีกตั้งแต่ พ.ศ. 2551 เป็นต้นมา     อย่างไรก็ดี สถานการณ์การติดเชื้อในคนในต่างประเทศ มีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขจึงได้เน้นมาตรการเฝ้าระวังให้มีประสิทธิภาพ ครอบคลุม  เพื่อให้สามารถตรวจจับการระบาดได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ซึ่งมีวันหยุดยาวติดต่อกัน  5  วัน   ประชาชนอาจจะมีการเดินทางไปเที่ยวที่ต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ      ได้สั่งการให้อาสาสมัครสาธารณสุขทั่วประเทศเฝ้าระวังไข้หวัดนก  โดยหากพบสัตว์ปีกทั้งที่เลี้ยงตามบ้าน และสัตว์ปีกที่อยู่ในป่าและตามทุ่ง ป่วยหรือตายผิดปกติ ขอให้แจ้งปศุสัตว์ เพื่อเก็บซากสัตว์ปีกไปตรวจหาเชื้อ   และหากพบผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศและมีอาการปอดบวม ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุข          

            นอกจากนี้ได้ให้โรงพยาบาลทุกแห่ง รวมทั้งประสานโรงพยาบาลเอกชน ให้เฝ้าระวังผู้ป่วยที่เป็นโรคปอดบวมรุนแรงทุกรายเพื่อซักประวัติคัดแยกว่าติดเชื้อไข้หวัดนกหรือไม่   โดยขณะนี้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทุกแห่งมีความพร้อมการตรวจยืนยันเชื้อไข้หวัดนกตลอด 24 ชั่วโมง  และกระทรวงสาธารณสุขได้สำรองยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ไว้ในโรงพยาบาลทุกแห่ง และสำรองไว้ส่วนกลางประมาณ 4 ล้านเม็ด   นายแพทย์ประดิษฐกล่าว

            ทางด้าน นายแพทย์ณรงค์  สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า  ขณะนี้องค์การอนามัยโลกได้ให้ทุกประเทศติดตามเฝ้าระวังโรคอย่างต่อเนื่อง    ยังไม่มีข้อห้ามการเดินทางไปต่างประเทศที่มีรายงานผู้ป่วยแต่อย่างใด    ดังนั้นผู้เดินทางและประชาชนทั่วไปยังสามารถเดินทางได้ตามปกติ      แต่ขอเน้นย้ำให้ยึดหลักปฏิบัติตัวการป้องกันโรค คือกินร้อน ใช้ช้อนกลางและหมั่นล้างมือ     หลีกเลี่ยงสัมผัสสัตว์ปีกรวมทั้งนกตามธรรมชาติ หากผู้เดินทางมีอาการป่วยคล้ายโรคไข้หวัดใหญ่คือมีไข้สูง ไอ ปวดเมื่อยตามร่างกาย และเคยมีประวัติสัมผัสสัตว์ปีก ขอให้รีบไปพบแพทย์ แจ้งประวัติการสัมผัสสัตว์ปีกให้แพทย์ทราบ เพื่อให้การดูแลรักษาได้อย่างถูกต้องตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด 

          สำหรับประชาชนทั่วไป มีคำแนะนำการป้องกันโรคไข้หวัดนกทั้ง 2 สายพันธุ์ดังต่อไปนี้ 1.  ขอให้รับประทานเนื้อสัตว์ปีกและไข่ที่สุกแล้ว  2.หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีกที่มีอาการป่วยหรือตาย โดยเฉพาะเด็กๆ  3.ห้ามนำซากสัตว์ปีกที่ป่วยตายไปรับประทานหรือให้สัตว์อื่นกิน  ต้องรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข       4. หากจำเป็นต้องสัมผัสสัตว์ปีก ให้สวมหน้ากากอนามัยและสวมถุงมือทุกครั้ง 5. ล้างมือบ่อยๆ และทุกครั้งหลังสัมผัสสัตว์ปีกและสิ่งคัดหลั่งของสัตว์ปีกด้วยสบู่และน้ำ   6. หากมีอาการเป็นไข้      ไอ ปวดเมื่อยตามร่างกาย และเคยสัมผัสสัตว์ปีกหรือสัมผัสผู้ป่วยปอดบวม ให้รีบไปพบแพทย์ พร้อมแจ้งประวัติการการสัมผัสสัตว์ปีกให้แพทย์ทราบด้วย  ซึ่งจะเป็นผลดีในการดูแลรักษา ทั้งนี้ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลโรคไข้หวัดนกทั้ง 2 สายพันธุ์ ที่สายด่วน กรมควบคุมโรค หมายเลขโทรศัพท์ 1422  ตลอด 24 ชั่วโมง   นายแพทย์ณรงค์กล่าว 

****************************  10 เมษายน 2556



   
   


View 10    10/04/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ