กระทรวงสาธารณสุข คาดการณ์อีก 2  เดือน คนไทยอาจถูกพายุยุงลายถล่ม  หากไม่เร่งกำจัดยุง ลูกน้ำ และไข่ยุงลายที่ยังไม่ฟักเป็นตัวในบ้านเรือน และโรงเรียนทุกชุมชนทั่วประเทศ โดยคาดปีนี้จำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกอาจพุ่งขึ้นนับแสนราย  เสียชีวิตมากกว่า 100 ราย นอนโรงพยาบาล 15,000 ราย ผลการวิเคราะห์สถานการณ์ใน 2 เดือนแรกปีนี้ พบผู้ป่วยมากกว่าปีที่แล้วเกือบ 4 เท่าตัว เสียชีวิตแล้ว 12 ราย มีทั้งเด็กอายุต่ำกว่า 14 ปี ครู  แม่บ้าน แม่ค้า  เตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันอังคารหน้า เพื่อระดมความร่วมมือกำจัดยุงลายให้เต็มที่ ก่อนที่โรคนี้จะระบาดมากในหน้าฝน และใช้สมุนไพรที่ยุงเกลียด ป้องกันไม่ให้ยุงกัด  มั่นใจหากทุกฝ่ายร่วมมือจริงจัง จะลดผู้ป่วยลงได้ครึ่งหนึ่ง

          นายแพทย์ประดิษฐ  สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในที่ประชุมกระทรวงสาธารณสุขในเดือนนี้ ได้มีการพิจารณาปัญหาไข้เลือดออก ซึ่งมีสาเหตุเกิดมาจากยุงลายกัด  คณะผู้เชี่ยวชาญ และสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ได้ประเมินสถานการณ์ว่าในปีนี้จะรุนแรงกว่าปีที่แล้ว คาดจำนวนผู้ป่วยจะมีสูงถึง 120,000 – 150,000 ราย อาจเสียชีวิตถึง 120-200 ราย และประมาณ 15,000 รายจะนอนโรงพยาบาล จากรายงานจำนวนผู้ป่วยในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2556 เพียง 2 เดือน รวม 9,824  ราย เฉลี่ยสัปดาห์ละ 800-1,000 ราย สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วเกือบ 4 เท่า และมีรายงานผู้เสียชีวิตจากโรคนี้แล้ว 12 ราย มีทั้งนักเรียน ครู แม่บ้าน แม่ค้า และร้อยละ 50 ของผู้ป่วยเป็นนักเรียน ปัญหาดังกล่าวจะเกิดผลกระทบทั้งด้านจิตใจ และภาพลักษณ์ของไทยในสายตาของนานาชาติ 

          นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่อว่า  ปัญหาหลักที่จะทำให้โรคไข้เลือดออกระบาดหนัก   คือจำนวนยุงลายที่เพิ่มมากขึ้น ยุทธศาสตร์หลักที่จะจัดการเรื่องนี้ได้สำเร็จ คือ การกำจัดลูกน้ำยุงลายในอาคารบ้านเรือน และโรงเรียนทั่วประเทศ ในช่วงต้นปีก่อนที่จะถึงฤดูฝน ซึ่งลำพังกระทรวงสาธารณสุขกระทรวงเดียว จะดำเนินการกำจัดได้ประมาณร้อยละ 10 เท่านั้น ไม่สามารถที่จะสกัดกั้นการแพร่ระบาดได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกหน่วยงานทั้งรัฐ เอกชน และประชาชนทุกพื้นที่ ช่วยกันกำจัดลูกน้ำยุงลายทุก 7 วัน ไม่ให้ลูกน้ำมีโอกาสโตเป็นตัวยุง   ซึ่งเป็นวิธีที่ทำง่ายที่สุดและได้ผลดีที่สุด  และปิดฝาภาชนะเก็บกักน้ำ ป้องกันไม่ให้ยุงลงไปวางไข่  ส่วนยุทธศาสตร์การลดป่วยลดการเสียชีวิตคือ รณรงค์ให้ประชาชนป้องกันตนเองไม่ให้ยุงกัด  ซึ่งจะส่งเสริมให้มีการปลูกและใช้สมุนไพรพื้นบ้านที่ยุงลายเกลียด  เช่น น้ำมันตะไคร้หอม  ไว้สำหรับทาป้องกันยุงกัดในครัวเรือน ซึ่งไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม รณรงค์ให้นอนในมุ้ง หรือในห้องที่มีมุ้งลวดทั้งกลางวันและกลางคืน   โดยจะนำเสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเร็วๆนี้ เพื่อระดมความร่วมมือจากทุกกระทรวงอย่างจริงจัง ตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นไป 

นายแพทย์ณรงค์  สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า ประชาชนจะต้องร่วมมือกันทำลายลูกน้ำยุงลาย ในบ้านเรือน สถานศึกษา โรงพยาบาล วัด สถานีขนส่ง สถานที่ทำงานทุกแห่ง  แหล่งท่องเที่ยวทุกแห่ง รวมทั้งโรงแรม รีสอร์ท  หากทุกพื้นที่ช่วยกันกำจัดลูกน้ำอย่างต่อเนื่องทุกเดือน  คาดว่าเมื่อถึงฤดูกาลระบาดในหน้าฝน คือประมาณเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป  ปริมาณยุงลายก็จะมีไม่มาก เมื่อดำเนินการทั้งปีคาดว่าจะลดจำนวนคนป่วยลงได้ ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50

          สำหรับการป้องกันการเสียชีวิตหลังป่วยไข้เลือดออก กระทรวงสาธารณสุขได้รวมพลังด้านการรักษาพยาบาล   โดยจัดเวชภัณฑ์และเตรียมทีมแพทย์ดูแลรักษาผู้ป่วยไข้เลือดออกให้พร้อมทุกโรงพยาบาล สามารถตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยในเด็กและผู้ใหญ่ได้อย่างรวดเร็ว หรือส่งผู้ป่วยรักษาต่ออย่างปลอดภัย        เตรียมทีมแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้คำปรึกษาแพทย์ที่รักษาตลอด 24 ชั่วโมง และให้คำแนะนำกลุ่มเสี่ยงที่อาจป่วยเป็นไข้เลือดออกให้พบแพทย์เร็วขึ้น  โดยเฉพาะกลุ่มที่มีไข้สูงลอยติดต่อกัน 2 วันขึ้นไป กินยาลดไข้แล้วไข้ยังไม่ลด หรืออาเจียน รับประทานอาหารและน้ำได้น้อย มีอาการอ่อนเพลียมาก ให้รีบพบแพทย์ 

          ทางด้านนายแพทย์พรเทพ  ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า นิสัยการวางไข่ของยุงลาย โดยทั่วไปยุงจะวางไข่ติดที่ผนังด้านในของภาชนะขังน้ำสะอาด   อยู่เหนือผิวน้ำประมาณครึ่งเซนติเมตร เมื่อเติมน้ำลงไปในภาชนะจนท่วมไข่ ยุงก็จะฟักเป็นตัวลูกน้ำ  ดังนั้นการกำจัดจะต้องล้างขัดภาชนะเพื่อกำจัดไข่ยุงให้หลุดไป ในปีนี้กรมควบคุมโรคได้จัดทำคู่มือกำจัดไข้เลือดออก 5 ล้านฉบับเพื่อแจกประชาชน ขณะนี้มีหมู่บ้านปลอดลูกน้ำยุงลาย 5,000 กว่าแห่ง ตั้งเป้าจะสร้างหมู่บ้านปลอดยุงลายอย่างน้อยให้ได้ตำบลละ 1 หมู่บ้าน  และขยายให้เต็มทุกพื้นที่ ซึ่งจะเป็นวิธีพิชิตโรคไข้เลือดออกที่ยั่งยืน          

มีนาคม/5-6 ******************************* 3 มีนาคม 2556



   
   


View 16    04/03/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ