รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ตรวจเยี่ยมโครงการจิตอาสา ของศูนย์สุขภาพชุมชนเครือข่ายโรงพยาบาลพุทธชินราช จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งนำญาติผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองและผู้สูงอายุ มาอบรมเสริมความรู้และทักษะต่างๆ ในการดูแลช่วยเหลือฟื้นฟูสภาพผู้ป่วย เป็นการดูแลคนในชุมชนด้วยคนในชุมชนเดียวกัน
นายแพทย์มรกต กรเกษม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมคณะ เดินทางไปตรวจเยี่ยมการดำเนินงานโครงการจิตอาสา ที่สถานีอนามัยพลายชุมพล อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งเป็น 1 ใน 4 สถานีอนามัยนำร่อง ในโครงการจิตอาสาดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ของศูนย์สุขภาพชุมชนเครือข่ายโรงพยาบาลพุทธชินราช
นายแพทย์มรกต กล่าวว่า โครงการจิตอาสา มีเป้าหมายที่จะให้นักเรียน นักศึกษา หรือประชาชนทั่วไป อาสาเข้ามามีส่วนร่วมกับทีมเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล ในการช่วยเหลือบริการต่างๆ เช่น ดูแลคนไข้ เช็ดตัว อำนวยความสะดวก หรือแสดงดนตรี อย่างไรก็ตาม โครงการจิตอาสาไม่ได้จำกัดรูปแบบเฉพาะการช่วยเหลือผู้ป่วยในโรงพยาบาลเท่านั้น แต่สามารถทำได้หลากหลายรูปแบบตามวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น ซึ่งเป็นการสร้างสังคมไทยที่น่าอยู่ เอื้ออาทร ไม่ทอดทิ้งกัน มีน้ำใจช่วยเหลือกัน
นายแพทย์มรกต กล่าวต่อว่า สำหรับ จังหวัดพิษณุโลก พบว่ามีจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งร้อยละ 20 เป็นผู้สูงอายุที่มีฐานะยากจน เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง ไม่มีบุตรหลานหรือญาติคอยดูแล บางรายทุพพลภาพ เจ็บป่วยต้องเดินทางมาโรงพยาบาลเอง และเมื่อต้องเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาล ก็ไม่มีบุตรหลานมาช่วยดูแล ปัญหาดังกล่าวส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุกลุ่มนี้
ดังนั้น กลุ่มงานเวชศาสตร์ครอบครัวโรงพยาบาลพุทธชินราช จึงได้จัดทำโครงการจิตอาสาดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองขึ้น เมื่อปี 2549 มีวัตถุประสงค์ให้ผู้ป่วยและผู้สูงอายุในชุมชน ได้รับการดูแลที่มีคุณภาพจากคนในชุมชนอย่างต่อเนื่อง โดยนำญาติผู้ป่วยหรือผู้ที่มีจิตอาสาที่เข้ามาช่วยเหลือคนในพื้นที่ของตนเอง มาเข้ารับการอบรมเสริมความรู้และทักษะต่างๆ นำร่องรุ่นแรก ใน 4 ตำบลๆ ละ 10 ครอบครัว รวม 40 คน
โดยวันแรกอบรมความรู้ในการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน พยาธิสภาพของโรคหลอดเลือดสมอง สุขภาพจิตในผู้สูงอายุ โรคในช่องปากของผู้สูงอายุ วันที่สองเรียนรู้เรื่องการทำกายภาพบำบัดฟื้นฟูสภาพผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก การดูแลผู้ป่วยที่มีอุปกรณ์ทางการแพทย์กลับไปดูแลที่บ้านและการทำแผลเบื้องต้น และฝึกปฏิบัติการให้อาหารทางสายยาง การทำแผล การวัดความดันโลหิต การเจาะเลือดปลายนิ้ว เป็นต้น
จากการติดตามผลหลังจากจัดการอบรมพบว่า ผู้สูงอายุในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จึงได้จัดทำโครงการต่อเนื่องสำหรับ ในปี 2550 รับอาสาสมัครจาก 4 ศูนย์สุขภาพชุมชน ได้แก่ พลายชุมพล หัวรอ มะขามสูง และ ปากโทก จำนวน 90 คน และในปีต่อๆ ไป จะได้ร่วมมือให้องค์กรท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแล ช่วยเหลือผู้สูงอายุ เพื่อจะขยายผลโครงการให้ครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่ ต่อไป นายแพทย์มรกต กล่าว
*********************************************** 18 พฤษภาคม 2550
View 14
18/05/2550
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ