กระทรวงสาธารณสุขจับมือองค์การเภสัชกรรม พัฒนาประสิทธิภาพระบบบริหารเวชภัณฑ์ ยา ของโรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศ และคัดเลือกรายการยาที่มีการใช้มากและราคาสูง เช่น น้ำยาล้างไต ยาปฏิชีวนะ ยาโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ให้องค์การเภสัชกรรมเป็นศูนย์กลางจัดซื้อ ซึ่งจะทำให้ได้ยาที่มีคุณภาพและราคาต่ำลง พร้อมทั้งนำร่องตั้งคลังสำรองยาประจำภูมิภาค 3 แห่งแรกในประเทศที่ลำพูน นครศรีธรรมราช และนครราชสีมา ลดพื้นที่สำรองยาในคลังของโรงพยาบาล

           วันนี้ (27 ธันวาคม 2555) เวลา 10.00 น. ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ กทม.นายแพทย์ประดิษฐ  สินธวรณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่อง “การพัฒนาประสิทธิภาพระบบริหารเวชภัณฑ์” ระหว่างกระทรวงสาธารณสุขโดยนายแพทย์โสภณ  เมฆธน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กับองค์การเภสัชกรรม(อภ.) โดยนายแพทย์วิทิต  อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม  มีนายแพทย์ณรงค์  สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์พิพัฒน์  ยิ่งเสรี ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม เป็นสักขีพยาน เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพระบบบริหารเวชภัณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข ทั้งเรื่องการจัดซื้อ การใช้ยา การควบคุมคุณภาพ การหมุนเวียน การแลกเปลี่ยน การจัดตั้งคลังสำรอง และการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารด้านยา ของสถานบริการสาธารณสุข

        รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายพัฒนาระบบบริหารจัดการเวชภัณฑ์ ยา ของโรงพยาบาล และศูนย์บริการสาธารณสุข รวมถึงการพัฒนาการให้บริการสุขภาพแก่ประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และให้ประชาชนเข้าถึงการบริการอย่างมีคุณภาพ กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมมือกับอภ. จัดทำโครงการพัฒนาประสิทธิภาพระบบบริหารเวชภัณฑ์ขึ้น โดยกระทรวงสาธารณสุขได้คัดเลือกรายการยาที่มีความจำเป็นต้องใช้มากและมีมูลค่าสูง อาทิ น้ำยาล้างไต วัคซีน ยาปฏิชีวนะ ยาโรคเบาหวาน ยาโรคความดันโลหิตสูง ยารักษาโรคหัวใจ เป็นต้น เพื่อให้อภ.ดำเนินการจัดซื้อจัดหายาที่มีคุณภาพ ซึ่งจะทำให้เกิดอำนาจการต่อรองมากขึ้น และทำให้ราคายาลดลงมาในระดับที่เหมาะสม รวมทั้งทำหน้าที่ประสานงานให้หน่วยบริการสาธารณสุขแจ้งแผนความต้องการใช้ยาและเวชภัณฑ์ ทั้งชนิดและปริมาณตามรายการยาที่จำเป็นเพื่อส่งให้อภ.ต่อไป ซึ่งระบบนี้จะทำให้ได้ยาราคาถูก และมีคุณภาพ

          ด้านผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรมกล่าวว่า ในส่วนขององค์การเภสัชกรรมจะจัดตั้งคลังสำรองยาและกระจายยา (Depot) ให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วทุกภูมิภาค เป็นเสมือนคลังสำรองยาให้โรงพยาบาลต่างๆในภูมิภาคทั้งในภาวะปกติและภาวะฉุกเฉินได้ทันทีเช่น กรณีเกิดภัยพิบัติต่างๆ ซึ่งจะเป็นการลดค่าใช้จ่ายและพื้นที่สำรองยาในคลังของโรงพยาบาล   โรงพยาบาลมียาใช้อย่างต่อเนื่อง  ในเบื้องต้นนี้จะนำร่องก่อน 3 แห่ง ประกอบด้วย ภาคเหนือที่จ.ลำพูน  ภาคใต้ที่จ.นครศรีธรรมราช  และภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่จ.นครราชสีมา  โดยจะมีการนำระบบเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้เพื่อให้เป็นในลักษณะของคลังอัตโนมัติ  มีระบบสารสนเทศเชื่อมโยงข้อมูลข่าวสารแสดงสถานะของระบบยาในประเทศที่มีประสิทธิภาพ  โดยนำระบบวีเอ็มไอ ( VMI:Vendor Managed Inventory) มาใช้ในการบริหารคลังยา เพื่อให้การกระจายยาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป                                  

    ***************************** 27 ธันวาคม 2555

 



   
   


View 10    27/12/2555   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ