รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นำคณะผู้บริหาร นักวิชาการ เดินทางเข้าร่วมประชุมสมัชชาอนามัยโลก ที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ โชว์ผลงานไทยเด่นด้านการควบคุมโรคไข้หวัดนก ไข้หวัดใหญ่ ในรอบปี 2550 นี้ยังไม่พบผู้ป่วยแม้แต่รายเดียว และการควบคุมปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ในวันที่ 14-23 พฤษภาคม 2550 นี้ นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จะนำคณะผู้บริหารระดับสูงของไทยประกอบด้วย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการทั้งในและนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เข้าร่วมประชุมสมัชชาอนามัยโลกครั้งที่ 60 (The sixtieth World Health Assembly :WHA) จัดโดยองค์การอนามัยโลก ที่นครเจนีวาประเทศสวิสเซอร์แลนด์ โดยมีผู้บริหารระดับสูง ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการจาก 193 ประเทศเข้าประชุมกว่า 2,000 คน เพื่อร่วมมือกันกำหนดนโยบายแก้ไขปัญหาสาธารณสุขระดับโลกอาทิโรคไข้หวัดนก ไข้หวัดใหญ่ โรคมาลาเรีย ปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โรคเรื้อรังเช่นเบาหวาน วัณโรค การกวาดล้างโรคโปลิโอ เป็นต้น
ในการประชุมปีนี้ องค์การอนามัยโลกได้กำหนดประเด็นสำคัญคือ การสร้างความปลอดภัยต่อสุขภาพในระดับนานาชาติ ( International Health Security) เพื่อให้ทุกประเทศตระหนักถึงความจำเป็นในการควบคุมป้องกันโรคโดยเฉพาะกรณีเกิดโรคระบาด โรคอาจแพร่ข้ามประเทศได้อย่างรวดเร็วจากการการคมนาคมที่สะดวก ที่ต้องจับตามองในขณะนี้ได้แก่ โรคไข้หวัดนกและไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ที่เกิดจากการผสมพันธ์ระหว่างเชื้อไข้หวัดนกในสัตว์ปีกกับเชื้อไข้หวัดใหญ่ในคน ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ฉะนั้นทุกประเทศจึงต้องเน้นมาตรการควบคุมป้องกันไม่ให้เชื้อผสมข้ามสายพันธุ์ องค์การอนามัยโลกรายงานสถานการณ์โรคไข้หวัดนกตั้งแต่พ.ศ.2546-วันที่ 11 เมษายน 2550 ทั่วโลกมีผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อโรคไข้หวัดนก 291 ราย เสียชีวิต 172 ราย ใน 12 ประเทศ
นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของประเทศไทย ในช่วงเช้าวันที่ 15 พฤษภาคม 2550 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขไทย มีกำหนดกล่าวปาฐกฐาความก้าวหน้าในการดำเนินการแก้ไขปัญหาสาธารณสุขในประเทศไทย ที่สำคัญได้แก่ ความสำเร็จของการควบคุมโรคไข้หวัดนกและการควบคุมโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งในปี 2550 นี้ไทยพบสัตว์ปีกติดเชื้อ และไม่พบการติดเชื้อในคนแม้แต่รายเดียว โดยไทยได้จัดซ้อมแผนรับมือระหว่างเจ้าหน้าที่สาธารณสุขพร้อมกันทั้งประเทศเรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ไทยยังได้รายงานความก้าวหน้าในการพัฒนาการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศที่สอดคล้องกับนโยบายระดับโลกคือ ร่างพรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งขณะนี้เครื่องดื่มดังกล่าวได้สร้างผลกระทบต่อสุขภาพของคนทั่วโลก โดยเป็น 1 ใน 5 สาเหตุการตายก่อนวัยอันควร ปีละกว่า 2 ล้านคน และยังทำให้เกิดโรคทางจิตร้อยละ 34 เกิดอุบัติเหตุรถชน จมน้ำร้อยละ 26 ตับแข็งร้อยละ 11 โรคหัวใจและหลอดเลือดร้อยละ 10 และมะเร็งร้อยละ 9
ผลสำรวจในปี 2547 พบคนไทยดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นอันดับที่ 40 ของโลก โดยเฉพาะเหล้ากลั่นดื่มมากเป็นอันดับที่ 5 ของโลก โดยประชากรไทยที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 16.2 ล้านคน ดื่มเฉลี่ยคนละ 58 ลิตรต่อปี จากการศึกษาอัตราความรุนแรงของการบาดเจ็บจากการดื่มสุรา ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ตลอดปีพ.ศ. 2548 มีผู้บาดเจ็บเพราะเมาสุราเข้ารักษาทั้งหมด 45,911 ราย โดยบาดเจ็บสาหัส จำนวน 8,233 ราย คิดเป็นร้อยละ 20 เสียชีวิตจากเหตุเมาสุรา 1,921 ราย คิดเป็นร้อยละ 23
*************************************** 13 พฤษภาคม 2550
View 14
13/05/2550
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ