รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ร่วมลงนามกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สสส.) และบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ตั้งสถานีผู้พิทักษ์ถนนปลอดภัย เน้นเก็บข้อมูลการปฏิบัติการตาม 4 มาตรการหลัก ลดอุบัติเหตุทางถนน ได้แก่ สวมหมวกนิรภัย คาดเข็มขัดนิรภัย งดดื่มสุราแล้วขับรถ ขับรถเร็วเกินมาตรฐานกำหนด เพื่อให้บรรลุเป้าทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนนพ.ศ. 2554-2563 ตายจากอุบัติเหตุไม่เกิน 10 ต่อแสนประชากร นำร่อง 14 จังหวัด

          นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังร่วมลงนามความร่วมมือ“สถานีผู้พิทักษ์ถนนปลอดภัย”ภายใต้โครงการป้องกันและลดการตายจากอุบัติเหตุทางถนนแบบบูรณาการ ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. และบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถเพื่อพัฒนาระบบฐานข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนให้มีประสิทธิภาพ มีความน่าเชื่อถือ และใช้นิยามที่เป็นสากล ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อบ่ายวันนี้ (17 ธันวาคม 2555) ว่า รัฐบาลมีนโยบายให้หน่วยงานภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ร่วมบูรณาการการทำงานรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนร่วมกันอย่างจริงจัง และต่อเนื่องตลอดช่วงทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน พ.ศ.2554-2563 เป็นการยกระดับการจัดการปัญหาอุบัติเหตุทางถนน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนนพ.ศ. 2554-2563 คือลดอัตราตายจากอุบัติเหตุทางถนนเหลือไม่เกิน 10 ต่อ 100,000 ประชากร โดยจะดำเนินการในปัจจัยเสี่ยงใน 4 เรื่องที่เป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนในอันดับต้นๆ ได้แก่ การสวมหมวกนิรภัย การคาดเข็มขัดนิรภัย การดื่มแล้วขับ และขับรถเร็วเกินกฎหมายกำหนด ขณะนี้อุบัติเหตุทางถนนคร่าชีวิตคนไทยเฉลี่ย ชั่วโมงละเกือบ 2 คน มากกว่าอาชญากรรม 4 เท่าตัว ต้องสูญเงินปีละกว่า 250,000 ล้านบาท
          นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่อว่า ในความร่วมมือของ 4 หน่วยงานครั้งนี้ เมื่อเกิดอุบัติเหตุทางถนนขึ้น เจ้าหน้าที่ตำรวจจะทำการสืบสวนสาเหตุการเกิด เพื่อชี้ว่าปัจจัยของการเกิดอุบัติเหตุจากพฤติกรรมคน หรือจากพาหนะ หรือโครงสร้างถนน หรือการบังคับใช้กฎหมายไม่เข้มข้น ส่วนกระทรวงสาธารณสุข จะพัฒนาระบบบริการการรักษาผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ตั้งแต่ การช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ ณ จุดเกิดเหตุ การนำส่งรักษาที่โรงพยาบาล การดูแลในห้องอุบัติเหตุฉุกเฉิน และการส่งรักษาต่อ ส่วน สสส.จะสนับสนุนการพัฒนาตัวชี้วัดการประเมินผล งบประมาณ และบริษัทกลางฯ สนับสนุนการพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารผู้บาดเจ็บบนทางถนน ที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ซึ่งข้อมูลจากทั้ง 3 หน่วยงานจะนำมาวิเคราะห์ด้านระบาดวิทยาของอุบัติเหตุจราจร เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหา โดยจะดำเนินการใน 14 จังหวัดที่มีปัญหาการเกิดอุบัติเหตุจราจรสูงที่สุดก่อน ได้แก่ เชียงราย น่าน เพชรบูรณ์ พระนครศรีอยุธยา นครปฐม ชลบุรี อุดรธานี นครราชสีมา นครศรีธรรมราช ภูเก็ต พัทลุง สงขลาและกทม. เฉพาะในท้องที่กองบังคับการตำรวจนครบาล 3 ตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2555 – 31 มกราคม 2557 โดยจะมีการรายงานผลทุกเดือน และเปรียบเทียบกับช่วงปีก่อนเพื่อให้เห็นความคืบหน้า และรายงานผลต่อนายกรัฐมนตรี จากนั้นขยายพื้นที่การทำงานให้ครอบคลุมไปทั่วประเทศ 
          นายแพทย์ประดิษฐ์กล่าวอีกว่า ในการป้องกันการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจร สามารถทำได้โดยการสวมหมวกนิรภัย คาดเข็มขัดนิรภัย การควบคุมความเร็วไม่ให้เกินกฎหมายกำหนด และการดื่มสุราแล้วไม่ขับรถ ซึ่งเป็นมาตรการที่ช่วยลดความรุนแรงของการเกิดอุบัติเหตุลงได้ และเมื่อเกิดอุบัติเหตุแล้ว มีระบบการดูแลรักษา ที่รวดเร็ว เพื่อให้ผู้บาดเจ็บกลับคืนสู่สภาพเดิม หรือใกล้เคียงปกติให้ได้มากที่สุด เป็นสิ่งที่จะต้องมีการประเมินผลอย่างต่อเนื่อง ให้เกิดรูปธรรม และสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบข้อเท็จจริง เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นและความร่วมมือในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่เข้าไปให้การช่วยเหลือ
********************* 18 ธันวาคม 2555


   
   


View 8    18/12/2555   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ