ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ห่วงใยปัญหาสุขภาพจากภัยหนาวเย็น โดยเฉพาะผู้มีโรคเรื้อรังประจำตัว 3 โรค ได้แก่เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ มีแนวโน้มความเสี่ยงอาการกำเริบและเสียชีวิตสูง เนื่องจากอากาศที่เย็นลง ระดับน้ำตาลในเลือดจะขึ้นลงเร็วกว่าปกติ เลือดจะหนืดขึ้น หัวใจทำงานหนัก ความดันโลหิตจะเพิ่มขึ้น    โดยอุณหภูมิที่ลดลง 1 องศาเซลเซียส จะเพิ่มความเสี่ยงเกิดโรคหัวใจเฉียบพลันร้อยละ 2 แนะวิธีการป้องกันต้องดูแลร่างกายให้อบอุ่นเป็นพิเศษ ควรออกกำลังกายเป็นประจำ กินยาตามแผนการรักษาของแพทย์ เพิ่มรับประทานผลไม้สด ธัญพืช เพิ่มภูมิต้านทานโรค ห้ามดื่มเหล้า 
 
นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้สภาพอากาศของประเทศไทยหนาวเย็นขึ้น โดยเฉพาะในภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ จะหนาวเย็นกว่าภาคอื่นๆ สภาพอากาศเย็น   จะมีความเหมาะสมต่อการระบาดของเชื้อโรคหลายชนิด เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ โรคปอดบวม โรคหัด โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน และโรคไข้หวัดนก กลุ่มที่น่าเป็นห่วงต่อการป่วยจากโรคดังกล่าว นอกจากเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี กลุ่มผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไปแล้ว กลุ่มที่น่าห่วงอีกกลุ่มก็คือผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ หอบหืด ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ซึ่งกลุ่มเหล่านี้จะมีภูมิต้านทานต่ำ และพบว่ามีแนวโน้มการเสียชีวิตจากภัยหนาวสูงกว่ากลุ่มวัยผู้ใหญ่ที่ไม่มีโรคประจำตัว ได้สั่งการเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และอสม.ให้ความรู้ในการปฏิบัติตัว และดูแลเป็นกรณีพิเศษ     
 
          นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อว่า โดยปกติผู้ที่เป็นโรคเรื้อรังต้องดูแลตนเองใน 3เรื่องสำคัญคืออาหาร การออกกำลังกาย และกินยาควบคุมอาการอยู่แล้ว แต่เมื่อถึงฤดูหนาว คนที่เป็นโรคประจำตัว โดยเฉพาะ 3 โรคได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ ซึ่งทั่วประเทศมีประมาณ 15 ล้านคน ต้องดูแลตนเองเป็นพิเศษ เนื่องจากเมื่ออากาศหนาวเย็น ความชื้นในอากาศลดลง ผิวหนังจะแห้ง และคัน เมื่อเกาจะทำให้ผิวหนังอักเสบง่าย และในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน เมื่ออากาศเย็นลงจะมีปัญหาระบบการไหลเวียนเลือด ระดับน้ำตาลสะสมในเลือดจะเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงเร็วกว่าปกติ นอกจากนี้ยังพบว่าอุณหภูมิที่ลดลงมีผลให้ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น เพราะเลือดมีความหนืดขึ้น ส่งผลให้หัวใจทำงานหนักขึ้นเพื่อสูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆในร่างกาย โดยอุณหภูมิที่ลดลง 1 องศาเซลเซียส จะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจเฉียบพลัน (Heart attack) ได้ถึงร้อยละ 2 ดังนั้นในช่วงหนาวนี้ ผู้ที่เป็นโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง และเบาหวาน จึงควรดูแลร่างกายให้อบอุ่นเป็นพิเศษอยู่เสมอ
 
ในการดูแลตนเองในช่วงฤดูหนาว ขอให้ผู้ป่วยโรคเรื้อรังปฏิบัติตัวดังนี้ 1.ดูแลร่างกายให้อบอุ่น โดยการสวมหมวก เสื้อคลุมกันหนาว ใส่ถุงมือถุงเท้า และรองเท้าที่ใส่สบาย หลีกเลี่ยงเสื้อผ้าใยสังเคราะห์หรือขนสัตว์ เพราะจะระคายเคืองผิวหนัง ควรทาผิวด้วยโลชั่นที่มีส่วนผสมของมอยเจอร์ไรเซอร์วันละหลายๆ ครั้งเพื่อป้องกันการสูญเสียน้ำ และเกิดอาการผิวแห้ง คันตามมา ภายในบ้านควร ดูแลให้อากาศถ่ายเทสะดวกและปิดหน้าต่างที่เป็นทางลมเข้า ควรฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่และหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่มีคนแออัดการระบายอากาศไม่ดี เพราะอาจติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ได้ง่ายและหายยากกว่าคนปกติ   2.รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นอาหารที่รสไม่จัด หลีกเลี่ยงลูกอม ขนมหวาน และอาหารไขมันสูง เลือกอาหารประเภทต้ม ธัญพืช ผัก ผลไม้สดที่หวานน้อยซึ่งมีวิตามินแร่ธาตุสูง ช่วยให้ผนังเซลล์แข็งแรงและเสริมสร้างภูมิต้านทานโรค ที่สำคัญควรหลีกเลี่ยงการดื่มสุราเพื่อแก้หนาว เพราะไม่สามารถช่วยได้ และจะทำให้เกิดการขาดน้ำอย่างรุนแรง อาจเสียชีวิตได้   
 
3.ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละ 30 นาที 5 วันต่อสัปดาห์ ควรเป็นการออกกำลังกายในร่ม เช่น เล่นโยคะ เต้นแอโรบิคขณะดูทีวี หรือออกกำลังกายกลางแจ้งในช่วงที่ไม่มีแดดจัดและไม่มีลมพัดแรง สำหรับผู้สูงอายุควรออกกำลังกายโดยการเดินเร็ว หรือยืดเหยียดร่างกาย 4.หมั่นตรวจเช็คค่าความดันโลหิต ระดับน้ำตาลในเลือด และควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม 5.รับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด 6.คอยสังเกตอาการผิดปกติ และแก้ปัญหาอย่างเหมาะสม ไม่หันไปพึ่งพาอบายมุข บุหรี่ สุรา ไม่เครียด โดยปัญหาที่พบบ่อยได้แก่ ระดับน้ำตาลในเลือดสูงหรือต่ำผิดปกติ และ7.พักผ่อนให้เพียงพอ โดยสวมใส่ชุดนอนที่อบอุ่นและห่มผ้าหนาๆ จัดห้องนอนไม่ให้ลมผ่านมากๆ เพื่อป้องกันการสูญเสียความร้อนตอนกลางคืน
 
********************************   16 ธันวาคม 2555
 
 
 


   
   


View 16    16/12/2555   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ