รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขสั่งดูแลช่วยเหลือผู้บาดเจ็บและครอบครัวผู้เสียชีวิตจากเหตุคาร์บอบ์ ที่ข้างองค์การโทรศัพท์ยะลา วานนี้ สรุปมีผู้บาดเจ็บทั้งหมด 32  รายล่าสุดนี้ยังนอนอยู่ในโรงพยาบาลยะลา 10 ราย ผ่าตัด8 รายอาการปลอดภัยทั้งหมด เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 1  ราย ยืนยันความพร้อมการบริการด้านการแพทย์เต็มพิกัด
 
          นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือผู้บาดเจ็บจากเหตุคาร์บอมบ์ที่ข้างองค์การโทรศัพท์ยะลา ถนนสิโรรส ตำบลสะเตง อำเภอเมือง จังหวัดยะลา  เมื่อเวลา 07.15น. วานนี้ (17 พฤศจิกายน 2555) ว่า ได้สั่งการให้นายแพทย์สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัยผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เดินทางลงพื้นที่จังหวัดยะลา เพื่อติดตามดูแลสถานการณ์ และอำนวยความสะดวกในการดูแลรักษาผู้บาดเจ็บทั้งหมด สรุปมีผู้บาดเจ็บเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลยะลาทั้งหมด 32 ราย  เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 1  ราย ผู้บาดเจ็บจากสะเก็ดระเบิด อาการเล็กน้อยแพทย์รักษาและให้กลับบ้านได้ 21  ราย  รับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล 10  ราย ในจำนวนนี้สาหัส 8 ราย ส่วนใหญ่ถูกไฟไหม้ กระดูกแขนขาหัก อวัยวะในช่องท้อง และทรวงอกถูกแรงกระแทกจากสะเก็ดระเบิด แพทย์ได้นำตัวเข้าห้องผ่าตัดทั้งหมด ล่าสุดทุกรายปลอดภัยแล้ว และนอนพักรักษาตัวที่หอผู้ป่วยสามัญ
 
          นายแพทย์ประดิษฐ กล่าวต่อว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กระทรวงสาธารณสุข เน้นหนักการดูแล 2  ด้าน คือ การรักษาการบาดเจ็บ และ การดูแลสุขภาพจิตของผู้บาดเจ็บ และครอบครัวของผู้เสียชีวิต เพื่อลดความรุนแรง ของการกระทบกระเทือนทางด้านจิตใจหลังเกิดเหตุ และลงสำรวจเยี่ยมบ้านค้นหาผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อการภาวะเครียดจากเหตุกระทบกระเทือนทางด้านจิตใจ สามารถช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที ขณะนี้ มีจิตแพทย์ และนักจิตวิทยาอีก 75 คน ประจำโรงพยาบาลทุกระดับ จากเหตุการณ์นี้ได้ส่งทีมจิตแพทย์ และเจ้าหน้าที่ไปดูแลครอบครัวผู้เสียชีวิต ซึ่งเป็นหญิงอายุ 49  ปี อยู่ที่ หมู่ 9 ตำบลสะเตงนอก อำเภอเมือง จังหวัดยะลา ด้วย
 
          นายแพทย์ประดิษฐ กล่าวต่อไปว่า ในการดูแลผู้บาดเจ็บจากเหตุความไม่สงบ ซึ่งมักเป็นอุบัติเหตุหมู่                มีผู้บาดเจ็บคราวละจำนวนมาก กระทรวงสาธารณสุข ได้วางแผนความพร้อม โรงพยาบาลในพื้นที่ 4  จังหวัดภาคใต้ เป็นมาตรฐานเดียวกัน ทั้งกำลังคน เครื่องมือทางการแพทย์ คลังเลือด ห้องผ่าตัด ห้องฉุกเฉิน ห้องผู้ป่วยหนัก โดยมีคณะกรรมการตอบสนองภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขในแต่ละจังหวัดเป็นศูนย์อำนวยการสั่งการและการติดต่อสื่อสารหน่วยงานเกี่ยวข้อง รวมทั้งระบบการประสานส่งต่อผู้ป่วยหนักไปรักษาต่อทั้งทางรถยนต์ ทางอากาศยาน ซึงได้กำหนดให้โรงพยาบาลหาดใหญ่ และโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ หาดใหญ่ เป็นแม่ข่ายใหญ่ในการดูแลผู้บาดเจ็บที่มีอาการหนักรวมทั้งเน้นการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งจากหน่วยงานความมั่นคง และภาคเอกชน เพื่อให้สามารถเข้าช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บได้อย่างรวดเร็ว และความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปช่วยเหลือ ที่ผ่านมาพบว่าประสบผลสำเร็จ เป็นอย่างดี
 
*********************************** 18 พฤศจิกายน 2555
 


   
   


View 9    18/11/2555   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ