หมอประดิษฐ มอบนโยบายกรมการแพทย์  สนับสนุนด้านวิชาการแก่รพ.ทุกระดับ ประเมินเทคโนโลยีการรักษาพยาบาลหนุนยุทธศาสตร์ประเทศและรัฐบาล และใช้ความเป็นผู้นำโดดเด่นด้านเทคโนโลยีการรักษาเช่นทันตกรรม สร้างจุดขายประเทศ สร้างชื่อเสียงไทย ให้ต่างชาติรู้จักและใช้บริการ

วันนี้ (16 พฤศจิกายน 2555)  ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ตรวจเยี่ยมกรมการแพทย์  มอบนโยบาย แนวทางพัฒนาบทบาทของกรมวิชาการ และให้สัมภาษณ์ว่า นโยบายหลักของกระทรวงสาธารณสุขจากนี้ไปทิศทางการทำงานของทุกกรม กอง จะทำงานโดยมีตัวชี้วัดที่เป็นเป้าหมายหรือผลลัพท์สุดท้ายที่จะเกิดขึ้นจากการทำงาน การลงทุน ในส่วนกรมการแพทย์ ได้มอบนโยบายให้รักษาจุดยืนของการเป็นกรมวิชาการที่ทำหน้าที่พัฒนาด้านวิชาการการรักษาพยาบาลผู้เจ็บป่วย สามารถนำไปใช้ในโรงพยาบาลทุกระดับของกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศได้ และเป็นกำลังสำคัญของหลายยุทธศาสตร์ของประเทศ เช่นการควบคุมค่าใช้จ่ายด้านยา โดยออกหลักเกณฑ์วิธีการใช้ยา หรือการรักษาด้วยเทคโนโลยีต่างๆ ที่ถูกต้องเหมาะสมตามหลักวิชาการ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ยุติข้อขัดแย้งทางสังคม และค่าใช้จ่ายอยู่ในสิ่งที่ควรจะเป็น รัฐบาลก็จะมีหลักในการจัดสรรค่าใช้จ่ายดูแลสุขภาพประชาชนได้อย่างถูกต้อง หรือให้ข้อเสนอแนะแก่รัฐบาลในการนำเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ในการรักษาคนไข้ 

     นอกจากนี้ ยังได้มอบหมายให้กรมการแพทย์  หารูปแบบใหม่ๆในการบำบัดรักษาฟื้นฟูผู้ติดสารเสพติดซึ่งเป็นนโยบายของประเทศให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น รวมทั้งการดูแลกลุ่มที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ได้แก่ กลุ่มด้อยโอกาส เช่นผู้พิการ ผู้สูงอายุ และให้ใช้ความเป็นเลิศทางวิชาการของภาครัฐสนับสนุนนโยบายเมดดิคัล ฮับของไทย ให้ไทยเป็นประเทศผู้นำทางวิชาการด้านการรักษาพยาบาลในระดับอาเซียน ขายจุดที่ไทยเก่งจริงๆ เช่นด้านทันตกรรม ผิวหนัง การผ่าตัดแปลกๆ สร้างชื่อเสียงให้นานาชาติรู้จักและมารับบริการที่เมืองไทย เพื่อดึงเงินเข้าประเทศ  

          นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่อว่า สำหรับปัญหาอัตรากำลังคนที่เป็นลูกจ้างชั่วคราวที่จะบรรจุข้าราชการ ซึ่งเป็นปัญหาของหน่วยงานสังกัดทั้งกระทรวงสาธารณสุข ได้คิดใหม่แล้วว่าจะปูพรมทั้งประเทศ โดยจัดลำดับความสำคัญตามภาระงานที่เป็นความสำคัญของประเทศจะได้รับการอุดหนุนกำลังคนก่อน เพราะทุกโรคก็เป็นโรคที่จะต้องใช้บุคลากรดูแล แต่บางโรคมีผู้ป่วยมากก็จะต้องให้กำลังคนตรงนั้นก่อน  โดยกระทรวงสาธารณสุขมีลูกจ้างชั่วคราวที่รอการบรรจุเป็นข้าราชการประมาณ 30,000 คน การบรรจุจะเริ่มในกลุ่มที่ทำงานก่อนพ.ศ.2550 ซึ่งมี 11,000 คน แต่มีอัตรากำลังที่สามารถบรรจุได้เลย 4,000 คน ที่เหลืออีก 7,000 คน จะใช้ตำแหน่งที่รอเกษียณใน 2 ปีข้างหน้าประมาณ 3,000 กว่าคน และจะเจรจากับก.พ.ขอเพิ่มอีก  4,000 คน ส่วนที่เหลืออีก 20,000 คนก็จะหารูปแบบการจ้างที่เหมาะสม เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของลูกจ้างชั่วคราวระหว่างรอการบรรจุเป็นข้าราชการ 

                 ด้านแพทย์หญิงวิลาวัณย์  จึงประเสริฐ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า กรมการแพทย์มีบทบาทพัฒนาด้านวิชาการด้านมาตรฐานการรักษา การฟื้นฟูผู้ป่วย และเทคโนโลยีด้านการแพทย์และสาธารณสุข มีบุคลากร 19,050 คน ส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างชั่วคราว วิสัยทัศน์ตั้งเป้าเป็นผู้นำทางวิชาการและเทคโนโลยีทางการแพทย์ระดับสากลที่สมคุณค่าเพื่อคุณชีวิตที่ดีกว่าของประชาชน โดยมี 2 บทบาทคือด้านการพัฒนาการรักษา ซึ่งกรมการแพทย์มีโรงพยาบาลและสถาบันเชี่ยวชาญเฉพาะทางทั่วประเทศรวม 23 หน่วยงาน ในปี 2555 มีผู้รับบริการกว่า 3 ล้านครั้ง และรับผู้ป่วยที่ต้องการการรักษาระดับสูงส่งต่อจากต่างจังหวัดกว่า 5,000 รายเพิ่มจากปี 2554 ที่มี 973 ราย และบทบาทสนับสนุนทางวิชาการ กรมการแพทย์มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ 58 สาขาจากที่มีทั้งหมด 77 สาขาของแพทยสภา เป็นศูนย์ฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางจากต่างประเทศ หลักสูตรระยะสั้นและระยะยาว โดยในปี 2555 มีแพทย์จากต่างประเทศหลายทวีป เช่น จีน ญี่ปุ่น อังกฤษ มารับการอบรมด้านการผ่าตัดลิ้นหัวใจ ด้านผิวหนัง เป็นต้น

               แพทย์หญิงวิลาวัณย์กล่าวต่อว่า ในปี 2556 กรมการแพทย์มีแผนพัฒนาความเชี่ยวชาญ 9 เรื่อง คือ 1.ด้านตา ซึ่งโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์หรือรพ.วัดไร่ขิง ได้รับการประเมินให้ผ่านมาตรฐานเจซีไอ ประเทศสหรัฐอเมริกา  เมื่อตุลาคม 2555 มีคะแนนสูงที่สุดในโลก และเป็นโรงพยาบาลภาครัฐแห่งแรกที่ผ่านการประเมิน 2.ยาเสพติด ตั้งเป้ารับไว้รักษาในสถาบันในสังกดกรมการแพทย์ไม่ต่ำกว่า 17,000 คนจากเป้าของสธ. 80,000 คนทั่วประเทศ 3.พัฒนาสถาบันทันตกรรม ซึ่งได้รับความเชื่อมั่นระดับสากล ให้เป็นศูนย์ทันตกรรมอาเซียนภายในปี 2558 พัฒนาเครือข่ายการรักษาระดับสูงร่วมกับประเทศสมาชิก จัดอบรมหลักสูตรเฉพาะทางในภูมิภาค 4.ขยายระบบการแพทย์ฉุกเฉินภาคสนามหรือเมิร์ท (MERT) จากที่มีขณะนี้ 8 จังหวัด เป็น 25 จังหวัดและให้ครบทุกจังหวัดในปี 2556 และมีทีมดีแมท (DMAT) ระดับอำเภอในโรงพยาบาลชุมชนทุกแห่งทั่วประเทศ

             5.การประเมินความคุ้มค่าและความเหมาะสมของเครื่องมือและเทคโนโลยีทางการแพทย์ไม่ต่ำกว่า 6 เรื่อง 6.การพัฒนาการรักษาโรคไม่ติดต่อสำคัญ 5 โรค ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด มะเร็ง หลอดเลือดสมอง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และวิจัยแก้ปัญหาความพิการแต่กำเนิดของเด็กไทย 7.โรคมะเร็งซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของโลก โดยพัฒนาการดูแลโรคมะเร็งปอดร่วมกับสถาบันโรคทรวงอก พัฒนาการรักษาโรคมะเร็งลำไส้ เพื่อผลิตเป็นคู่มือการดูแลรักษา ฟื้นฟู และการดูแลผู้ป่วยมะเร็งในระยะสุดท้ายของชีวิต โดยร่วมมือกับญี่ปุ่นด้วย 8.พัฒนาเทคโนโลยี เครื่องช่วยคนพิการให้สามารถพึ่งตนเองในประเทศได้ 9.โครงการความร่วมมือระหว่างประเทศ เช่น โครงการโรงพยาบาลพุทธมารดาที่ลุมพินีวัน ประเทศเนปาล โดยมีโรงพยาบาลสงฆ์เป็นเจ้าภาพ โครงการความร่วมมือของศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้พิการร่วมกับเมียนมาร์ โครงการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินระหว่างกรมการแพทย์และมหาวิทยาลัยเว้ ประเทศเวียดนาม เป็นต้น 

***********************************  16 พฤศจิกายน 2555



   
   


View 16    16/11/2555   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ