วันนี้ (8 พฤศจิกายน 2555) ที่โรงแรมดุสิตไอร์แลนด์รีสอร์ท จ.เชียงราย นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด นายแพทย์เชี่ยวชาญด้านเวชกรรมป้องกัน ผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปทั่วประเทศ ในโครงการส่งเสริมพัฒนาสร้างความร่วมมือภาคีเครือข่ายในการจัดบริการสุขภาพและมอบนโยบายงานการพัฒนาสาธารณสุข จากนั้นเดินทางไปตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ และโรงพยาบาลสมเด็จพระญาณสังวร เพื่อติดตามการดำเนินงานพัฒนาระบบบริการตามนโยบาย 30 บาทยุคใหม่เพิ่มคุณภาพใกล้บ้านใกล้ใจประชาชน

        นายแพทย์ประดิษฐให้สัมภาษณ์ว่า จังหวัดเชียงรายเป็นพื้นที่ที่มีพรมแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ก่อนเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2558 ได้วางแผนพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขให้เป็นหน้าเป็นตาของประเทศ และให้บริการเป็นเครือข่ายทั้งระดับจังหวัดและระหว่างประเทศ ขณะนี้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงรายได้พัฒนารูปแบบเครือข่ายบริการสุขภาพให้ลงตัว โดยให้โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์เป็นโรงพยาบาลแม่ข่าย และพัฒนาโรงพยาบาลที่อยู่บริเวณรอบๆให้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในแต่ละด้านแตกต่างกันไป เมื่อมีคนไข้มีปัญหาด้านใด ก็จะส่งไปโรงพยาบาลเครือข่ายที่เชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ เช่น โรงพยาบาลแม่ลาวพัฒนาไปในทางเชี่ยวชาญด้านโรคตา มีจักษุแพทย์ที่เชี่ยวชาญเฉพาะทาง มีเครื่องมือที่ทันสมัยมากขึ้น และพัฒนาในเรื่องของเวชศาสตร์ฟื้นฟู การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เช่น แพทย์ฝังเข็ม

          นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังพัฒนาโรงพยาบาลชุมชนอื่นๆ เช่นโรงพยาบาลแม่จัน ตั้งเป้าพัฒนาให้มีความเชี่ยวชาญด้านกระดูกและข้อ ถ้าผู้ป่วยในจังหวัดเชียงรายมีปัญหาเรื่องกระดูกและข้อ ก็จะส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลแม่จัน พัฒนาโรงพยาบาลสมเด็จพระญาณสังวรให้มีความเชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมทั่วไป สามารถรองรับผู้ป่วยที่จะล้นมาจากโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ได้ และโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเชียงของ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่อยู่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน พัฒนาให้มีศักยภาพเหมือนโรงพยาบาลทั่วไป สามารถรองรับคนไข้ทั่วไปได้ ส่วนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลที่มีประมาณ 200 แห่ง เป็นเครือข่ายของโรงพยาบาลใหญ่  ดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่เป็นปัญหาเช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ใช้ฐานข้อมูลผู้ป่วยและมาตรฐานการรักษาเดียวกัน มีระบบการส่งต่อเพื่อให้รพ.สต.เป็นสถานพยาบาลใกล้บ้านใกล้ใจ

        ผลการทดสอบในพื้นที่อำเภอเมืองระหว่างโรงพยาบาลเชียงรายฯ กับรพ.สต.ในพื้นที่อำเภอเมืองประมาณ 30 แห่งในปี 2554 สามารถลดจำนวนครั้งการไปใช้บริการโรงพยาบาลเชียงรายฯ ได้ 26,243 ครั้ง และในปี 2555 ลดได้ 29,523 ครั้ง หรือประมาณ 1 ใน 4 ของผู้ป่วยนอก ขณะนี้จำนวนผู้ป่วยนอกโรงพยาบาลเชียงรายฯลดลงจากเดิมที่มีเฉลี่ยวันละ 2,820 ราย เหลือประมาณ 2,100 ราย

        ทั้งนี้ หากรูปแบบของการจัดบริการระดับจังหวัดของเชียงรายประสบความสำเร็จ เชื่อว่าจะเป็นต้นแบบในการพัฒนาจังหวัดอื่นๆที่มีปัญหาในลักษณะเดียวกันได้ คนไข้ก็จะไม่หนาแน่นอยู่แต่ในโรงพยาบาลใหญ่เพียงแห่งเดียว ขณะเดียวกันโรงพยาบาลชุมชนก็จะสามารถใช้ศักยภาพอย่างเต็มที่ ทั้งด้านบริการรักษา รวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลชุมชนต่างๆ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประหยัดงบประมาณราชการ

 



   
   


View 17    08/11/2555   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ