รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เตรียมเสนอ 2 โครงการพัฒนางานสาธารณสุข 2 โครงการเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ที่จ.สุรินทร์ ได้แก่ โครงการพัฒนาการผลิตสมุนไพรไทยให้ได้มาตรฐานจีเอ็มพีของโรงพยาบาล4 แห่ง งบ 20 ล้านบาท และจัดหาครุภัณฑ์ประจำศูนย์วิจัยด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ของมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตอำนาจเจริญ วงเงิน 10 ล้านบาท 

วันนี้(29 กรกฎาคม 2555)นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุขและคณะ เดินทางไปตรวจเยี่ยมจังหวัดอำนาจเจริญ ศรีสะเกษ อุบลราธานีและยโสธร เพื่อรับฟังข้อคิดเห็น สถานการณ์ความต้องการของประชาชน ในการพัฒนาพื้นที่ด้านต่างๆ ก่อนนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรอย่างเป็นทางการที่จังหวัดสุรินทร์ในวันพรุ่งนี้ และให้สัมภาษณ์ว่า รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรี มีความคาดหวังที่จะจัดสรรงบประมาณให้ตรงกับความต้องการของแต่ละพื้นที่ โดยส่งผู้แทนสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงบประมาณ เข้าไปศึกษาความต้องในพื้นที่ก่อน และมอบหมายให้รัฐมนตรีลงติดตามรับฟังข้อเท็จจริงอีกครั้ง เพื่อดูว่าสิ่งใดเร่งด่วนก็จะจัดสรรให้ก่อน และหากเป็นงบประมาณก้อนใหญ่ ก็จะส่งเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีตามระบบปกติ ซึ่งจะเป็นการสะท้อนการแก้ปัญหาที่เกิดจากความต้องการของพื้นที่จริงๆ 
นายวิทยา กล่าวว่า โครงการที่จะนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรในวันพรุ่งนี้   มี2 โครงการ ได้แก่ โครงการจัดหาครุภัณฑ์ประจำศูนย์เรียนรู้การวิจัยด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมในเขตอีสานใต้   มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตอำนาจเจริญ งบประมาณ 10 ล้านบาท ซึ่งโครงการนี้นับว่าเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพประชากรในด้านการศึกษา การแก้ไขปัญหาสาธารณสุขที่คุกคามสุขภาพประชาชนในพื้นที่ ดำเนินการ 1 ปี ตั้งแต่เดือนตุลาคม2555- กันยายน2556  ซึ่งอำนาจเจริญมีรายได้ประชากรต่อหัวเป็นอันดับสุดท้ายของประเทศ 
โครงการที่2 ได้แก่โครงการพัฒนาปรับปรุงแหล่งผลิตยาสมุนไพรให้ได้มาตรฐานจีเอ็มพี ของโรงพยาบาล  4 แห่ง ได้แก่ รพ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี รพ.พนา จ.อำนาจเจริญ รพ.ห้วยทับทัน จ.ศรีสะเกษ และรพ.กุดชุม จ.ยโสธร วงเงินรวม 20 ล้านบาท ดำเนินการเป็นเวลา 1 ปี ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2555 กันยายน 2556  โครงการดังกล่าวเป็นการสนองนโยบายแห่งชาติด้านยา และกระทรวงสาธารณสุข เพื่อการใช้ยาแผนปัจจุบัน ลดการสูญเสียการนำเข้ายาต่างประเทศ ซึ่งประเทศไทยนำเข้ายาแผนปัจจุบันปีละประมาณ 3 แสนล้านบาท และโครงการนี้จะสร้างรายได้ให้กับคนท้องถิ่นในการปลูกสมุนไพรเป็นวัตถุดิบป้อนเข้าสู่ระบบของโรงพยาบาลทั้ง4 แห่ง และยาสมุนไพรที่ได้จากการผลิตจะป้อนเข้าสู่ระบบบริการสาธารณสุขในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเป็นการเตรียมพร้อมเข้าสู่การแข่งขันยาที่ได้มาตรฐานสากลเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2558         
                ทั้งนี้ที่ผ่านมา โรงพยาบาล 4 แห่ง ได้ผลิตสมุนไพรใช้ในโนการรักษาผู้เจ็บป่วยในพื้นที่ได้จำนวน30 รายการ โดยเป็นยาอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ 21 รายการ เช่น ขมิ้นชันแก้ท้องอืด ฟ้าทะลายโจรแก้ไข้ ยาธาตุอบเชยแก้ท้องอืด เป็นยาระบายอ่อนๆ ใช้ลดน้ำตาลในกระแสเลือด ทั้ง 3 รายการนี้เป็นยายอดนิยมของพื้นที่มีมูลค่ามากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของยาที่ผลิตทั้งหมด และมีราคาถูก ทำรายได้ประมาณ 7 ล้านบาทต่อปี หากมีการปรับปรุงระบบการผลิตให้ได้มาตรฐานจีเอ็มพี คาดจะเพิ่มมูลค่าได้ 2 เท่าตัว เป็นประโยชน์ต่อคนไทยทั้ง ประเทศ ได้ใช้ยาดีมีราคาถูก ไม่มีผลข้างเคียง                
***********   29 กรกฎาคม 2555     


   
   


View 8    29/07/2555   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ