วันนี้ (27 กรกฎาคม 2555) ที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ศ.เกียรติคุณ นายแพทย์ประเสริฐ ทองเจริญ  ที่ปรึกษากรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานประชุมคณะผู้เชี่ยวชาญ ด้านไวรัสวิทยา การรักษา และระบาดวิทยา ศ.นพ.อมร ลีลารัศมี  คณะแพทยศาสตร์  มหาวิทยาลัยมหิดล  ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา  คณะแพทยศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  นพ.คำนวณ  อึ้งชูศักดิ์  นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ  กรมควบคุมโรค นพ.ศุภมิตร ชุณห์สุทธิวัฒน์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค  นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ นพ.ภาสกร อัครเสวี ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา เพื่อร่วมกันหารือแนวทางการสื่อสารสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนเรื่องไข้สมองอักเสบ เชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 และโรคมือเท้าปาก  เพื่อลดความตื่นกลัวหลังจากที่มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคไข้สมองอักเสบจากเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71

 ศ.เกียรติคุณนายแพทย์ประเสริฐกล่าวว่า  โรคไข้สมองอักเสบเป็นโรคประจำถิ่นที่พบในไทยและในประเทศเพื่อนบ้านอยู่แล้ว โดยในไทยพบโรคประปรายทุกปี ไม่มีฤดูกาลระบาดโดยเฉพาะ เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น เชื้อวัณโรค ไวรัส แบคทีเรียอื่นๆ  สำหรับสาเหตุจากเชื้อเอนเทอโรไวรัส พบได้บ้าง แต่มีจำนวนเล็กน้อยประมาณร้อยละ 2-4 ของผู้ป่วยโรคไข้สมองอักเสบ  เช่นในรายผู้เสียชีวิตที่จังหวัดสระแก้ว  ไม่ได้เพิ่งพบใหม่แต่อย่างใด  ตั้งแต่ต้นปี 2555 – 22 กรกฎาคม 2555 ได้รับรายงานผู้ป่วยไข้สมองอักเสบทั่วประเทศ 334 ราย กระจายในแต่ละกลุ่มอายุ ส่วนใหญ่เป็นผู้ใหญ่ และมีรายงานตลอดปี ในจำนวนนี้เสียชีวิต 12 ราย ภาพรวมในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข มีรายงานพบผู้ป่วยกระจายทั้งปี เฉลี่ยประมาณปีละ 300-500 ราย เสียชีวิต 10-20 ราย ที่สำคัญไม่พบว่าที่จังหวัดสระแก้วหรือจังหวัดใกล้เคียง เช่นจังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี จะมีอัตราการป่วยหรืออัตราการตายจากโรคไข้สมองอักเสบสูงกว่าจังหวัดอื่นๆ  ในส่วนของโรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัย เช่น โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มีรายงานผู้ป่วยโรคนี้จากทุกสาเหตุปีละประมาณ 300 ราย

ดังนั้นกรมควบคุมโรคจึงได้ให้ความสำคัญในการเฝ้าระวังโรคและป้องกันโรคไข้สมองอักเสบ โดยเฉพาะโรคไข้สมองอักเสบที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน เช่น เชื้อเจอี คางทูม หัด ซึ่งมีการให้วัคซีนกับเด็กทุกคนอยู่แล้ว แต่ในกลุ่มเชื้อที่ยังไม่มีวัคซีนป้องกันซึ่งรวมทั้งเอนเทอโรไวรัสด้วย จำเป็นต้องระมัดระวังเพื่อป้องกันการเสียชีวิต โดยแนะนำให้ประชาชนสังเกตอาการที่สงสัยว่าจะเป็นโรคมือเท้าปาก หรือไข้สมองอักเสบ เช่น ไข้สูง ซึม อาเจียน หอบเหนื่อย ชักกระตุก แขนขาอ่อนแรง อย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องมีครบทุกอาการ ขอให้รีบพาไปพบแพทย์และเล่าประวัติให้แพทย์ทราบโดยละเอียด

ศ.เกียรติคุณนายแพทย์ประเสริฐกล่าวต่อไปว่า  โรคไข้สมองอักเสบ การติดเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 และโรคมือเท้าปาก มีความเกี่ยวข้องกันก็คือ โรคมือเท้าปากสามารถเกิดได้จากเชื้อหลายชนิด หนึ่งในนั้นก็คือเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 ซึ่งเชื้อตัวนี้จะก่อให้เกิดอาการแสดงได้หลายแบบ เช่น ตุ่มในปาก ฝ่ามือ ฝ่าเท้า สมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบได้   

          สำหรับสถานการณ์โรคมือเท้าปากในประเทศกัมพูชา ขณะนี้การระบาดยังคงมีอยู่ แต่ลดลงแล้ว ยังพบผู้เสียชีวิตอยู่บ้าง  เชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคเป็นเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 สายพันธุ์ย่อย ซี 4   ส่วนกรณีเด็กที่เสียชีวิตที่จังหวัดระยอง เป็นเด็กกัมพูชาที่มาอาศัยอยู่นานแล้ว การเสียชีวิตผู้ป่วยรายนี้ หากผลชัดเจนก็ไม่จำเป็นต้องเข้าที่ประชุมของคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งจะพิจารณาเฉพาะรายที่มีอาการไม่ชัดเจนว่าเกิดจากโรคมือเท้าปากหรือไม่เท่านั้น และมั่นใจว่าสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระยองสามารถดูแลควบคุมโรคได้  

ส่วนที่ประชาชนบางส่วนอาจเกิดความไม่แน่ใจเกี่ยวกับการป่วยโรคมือเท้าปากของเด็กกัมพูชานั้น ขอชี้แจงว่า โรคในขณะนี้เป็นโรคไร้พรมแดน สามารถข้ามไปมาได้ตลอดเวลา ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าคิดรังเกียจเด็กกัมพูชาหรือชาติใดก็ตาม ทุกประเทศมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้อยู่แล้ว รวมทั้งในไทยด้วย  แต่ที่สำคัญก็คิดทุกคนจะต้องช่วยกันป้องกันและทำลายเชื้อโรค โดยการทำความสะอาดสถานที่ ข้าวของเครื่องใช้ และสุขอนามัยส่วนตัว กินร้อน ช้อนกลาง และล้างมือให้เป็นนิสัย

ด้านนายแพทย์รุ่งเรือง  กิจผาติ ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กล่าวว่า จากกรณีการเสียชีวิตของเด็กกัมพูชาที่จังหวัดระยอง สำนักระบาดวิทยาได้แจ้งข้อมูลในที่ประชุมว่า ขณะนี้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระยองได้แจ้งข้อมูลมาที่ส่วนกลาง โดยระบบปกติทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วจากส่วนกลางจะลงพื้นที่ร่วมกับทีมของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เพื่อหาปัจจัยที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ทั้งด้านระบาดวิทยา การเก็บตัวอย่างมาส่งตรวจหาเชื้อทางห้องปฏิบัติการ ขณะเดียวกันจะดำเนินการตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคคู่ขนานกันไป คือ 1.ดูแลแนะนำเรื่องสุขอนามัยทั้งส่วนบุคคลและส่วนรวม 2.สอบสวนโรคและเฝ้าระวังผู้ป่วยรายใหม่ ตามกลุ่มอาการที่กำหนดไว้ รวมทั้งการให้ความรู้ความเข้าใจประชาชนในพื้นที่ไปพร้อมกัน   จึงขอให้ประชาชนไม่ต้องวิตกกังวล  ข้อมูลส่วนใหญ่ที่ปรากฎในสื่อมวลชนในขณะนี้ เป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นและยังไม่ได้รับการยืนยันข้อเท็จจริง โดยผู้เสียชีวิตรายนี้กระทรวงสาธารณสุขได้เก็บตัวอย่างส่งตรวจยืนยันเชื้อที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

ด้านนายแพทย์ภาสกร อัครเสวี ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา กล่าวว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระยองมีทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วอยู่แล้ว ดำเนินการตามมาตรการในการป้องกันควบคุมโรค ร่วมกับทีมส่วนกลาง ทั้งสุขอนามัย น้ำสะอาด และเฝ้าระวังติดตามผู้ป่วยรายใหม่ ลักษณะที่อยู่ของผู้เสียชีวิตเป็นชุมชนบ้านเช่า  อยู่รวมกันค่อนข้างหนาแน่น ซึ่งมีโอกาสป่วยจากหลายๆ โรค  

 

 

 

 

 

 

 

************************   27 กรกฎาคม 2555



   
   


View 12    28/07/2555   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ