รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดอบรมเชิงปฏิบัติการให้กับนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ และบุคลากร ที่อยู่ประจำศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์  14 ศูนย์ทั่วประเทศ เพื่อตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโรคมือเท้าปาก ด้วยวิธีพีซีอาร์ อย่างแม่นยำและรวดเร็ว เพิ่มประสิทธิภาพการวินิจฉัยโรคการรักษาและควบคุมโรค

บ่ายวันนี้  (26 กรกฎาคม  2555) ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังเปิดอบรมเชิงปฎิบัติการให้กับ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ จากศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 14 แห่งทั่วประเทศ ในการตรวจหาเชื้อไวรัสโรคมือเท้าปาก ว่า การจัดอบรมในครั้งนี้ เป็นการวางกรอบแนวทางการตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัส ที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคมือเท้าปาก ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ และกำลังอยู่ในความสนใจของประชาชนในขณะนี้   เพื่อให้บุคลากรในแต่ละศูนย์ฯสามารถตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโรคมือเท้าปาก ด้วยวิธีพีซีอาร์ได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ รวดเร็ว เป็นรูปแบบแนวทางเดียวกัน ช่วยในการควบคุมโรคและรักษาผู้ป่วย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ถือว่าเป็นห้องปฏิบัติการอ้างอิงในระดับประเทศ และในระดับภูมิภาคนี้ เป็นการยกระดับมาตรฐานการตรวจหาเชื้อมือเท้าปากในระดับประเทศให้สูงขึ้น  
 
ด้านนายแพทย์นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า การตรวจหาเชื้อไวรัสด้วยวิธีพีซีอาร์  (PCR) เป็นการตรวจในระดับโมเลกุลของตัวเชื้อไวรัส จะรู้ผลใน 48 ชั่วโมง สามารถตรวจที่ห้องปฏิบัติการของศูนย์วิทยาศาสตร์ 14 แห่งทั่วประเทศ โรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปอีกประมาณ 6 แห่ง ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการพัฒนาโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป อีกประมาณ 25 แห่ง ซึ่งในพ.ศ. 2552 มีการระบาดโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้พัฒนาห้องปฏิบัติการของโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปอย่างต่อเนื่อง จนหลายแห่งสามารถตรวจเชื้อไวรัสได้ ในปีนี้มีการระบาดของโรคมือเท้าปาก ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสเหมือนกัน เพียงแต่เป็นคนละกลุ่ม กลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่เรียกว่าเอ็นเทอโรไวรัส หลักเกณฑ์ในการตรวจหาไวรัส ในห้องปฏิบัติการก็ใช้วิธีการเดียวกัน  โดยเชื้อเอ็นเทอโรไวรัส เป็นเชื้อในระบบทางเดินอาหาร สามารถตรวจได้จากทางเดินอาหาร และในอุจจาระ
 
ในการตรวจต้องแยกเป็น  2 ส่วน คือด้านคลินิก เป็นการบ่งชี้ว่าลักษณะเฉพาะที่เกิดขึ้นที่มือ ที่ปาก ที่เท้า ร่วมกัน จากสถิติที่เก็บมาตรวจ เราพบว่าไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยที่มีอาการทางคลินิก หรืออาการของโรคชัดเจน ที่สามารถตรวจหาเชื้อทางห้องแล็ปได้ การตรวจพบหรือไม่พบเชื้อขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น 1. ขั้นตอนในการส่งตัวอย่างมาตรวจ สามารถทำให้เกิดการสลายตัวของเชื้อได้ 2.ระยะเวลาที่เก็บตัวอย่างจากผู้ป่วย หากเป็นระยะที่เชื้อโรคเข้าไปอยู่ในอวัยวะต่างๆเป็นส่วนใหญ่แล้ว โอกาสที่จะตรวจพบเชื้อก็จะน้อยลง 3.ช่วงเวลาการเก็บตัวอย่าง ที่ช้าเกินไปหรือเร็วเกินไป ก็อาจจะตรวจไม่พบ    ดังนั้นการวินิจฉัยโรคจึงต้องใช้ 2 ส่วนเสมอ คือ 1. อาการทางคลินิกที่ปรากฏ 2. ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ จะทำให้การวิเคราะห์ทางระบาดวิทยาซึ่งต้องการข้อมูลที่ชัดเจนร้อยเปอร์เซ็นต์ สามารถติดตามการแพร่กระจายของเชื้อสายพันธุ์ต่างๆชัดเจนขึ้น
 
นายแพทย์นิพนธ์ กล่าวต่อว่า การตรวจด้วยพีซีอาร์  จะทำให้การตรวจหาเชื้อเร็วขึ้น กว่าวิธีการเดิมคือการเพาะเชื้อซึ่งใช้เวลาประมาณ 28  วัน โดยต้องเพาะเลี้ยงเชื้อ 2 รอบ  รอบละ 10 วัน และจะต้องมีขั้นตอนการพิสูจน์เชื้ออีกว่าเป็นเชื้อชนิดใด ซึ่งพีซีอาร์คือ การตรวจจากตัวอย่าง เช่น เยื่อเมือกในลำคอ หรืออุจจาระโดยสกัดเอาสารพันธุกรรมของเชื้อ หรือ อาร์เอ็นเอ (RNA) ออกมา แล้วเพิ่มปริมาณเชื้อให้มากขึ้น จนสามารถตรวจได้ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์การแพทย์จะมีวิธีการดูว่าตัวไหนเป็นเชื้อ เพราะในตัวอย่างที่นำมาตรวจ ไม่ได้มีแค่เชื้อตัวเดียว สารคัดหลั่งของคนเราเต็มไปด้วยเชื้อโรคอยู่แล้ว หากเชื้อตรงกันกับตัวตั้งต้นที่ใส่เข้าไป ก็จะได้ผลออกมาเป็นบวกคือตรวจพบเชื้อนั้น ซึ่งเราใช้เวลาในการตรวจทั้งหมด ไม่เกิน 48 ชั่วโมง และค่าใช้จ่ายในการตรวจต่อหนึ่งตัวอย่างประมาณ 2,200 บาท
 
“เชื้อเอ็นเทอโรไวรัสนั้น ในช่วง 7 วันแรกเชื้อจะอยู่ในคอ หลังจากนั้นจะไปอยู่ในอุจจาระ หากตรวจในอุจจาระแล้วไม่พบ ไม่ได้หมายความว่าไม่เป็น ส่วนที่นำมาตรวจ อาจจะไม่มีเชื้อ แต่ส่วนที่ไม่ได้นำมา อาจจะมีเชื้อก็ได้” นายแพทย์นิพนธ์กล่าว
 
                                                                                          ************************  26 กรกฎาคม 2555
 


   
   


View 8    26/07/2555   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ