กระทรวงสาธารณสุข ระดมสมองผู้บริหารสาธารณสุขทั้งภาครัฐ เอกชน สภาวิชาชีพ องค์กรเอกชนและเครือข่ายผู้เสียหาย ร่วมแสดงความคิดเห็นร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ....หวังลดปัญหาการฟ้องร้องผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ ให้ความคุ้มครองผู้รับบริการที่ได้รับความเสียหายโดยไม่ต้องพิสูจน์ความถูกผิด เผยตั้งแต่ ปี 2533-2549 มีกรณีความผิดเข้าสู่การพิจารณาของแพทยสภากว่า 2,000 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นการรักษาไม่ได้มาตรฐาน เช้าวันนี้ (23 เมษายน 2550) ที่โรงแรมอมารีแอร์พอร์ต กรุงเทพฯ นายแพทย์ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนารับฟังความคิดเห็น ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ.... โดยมีผู้บริหารของกระทรวงสาธารณสุขทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ผู้แทนโรงพยาบาลภาครัฐและเอกชน สภาวิชาชีพด้านการแพทย์และสาธารณสุข สภาทนายความ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายผู้เสียหายและองค์กรเอกชนด้านต่างๆ เข้าร่วมประชุมประมาณ 200 คน นายแพทย์ศุภชัย กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีทางการแพทย์และสาธารณสุขมีความรุดหน้ามาก ผู้รับบริการมีความคาดหวังในผลการรักษาสูง ทำให้การฟ้องร้องผู้ประกอบวิชาชีพทางสาธารณสุข เนื่องจากได้รับความเสียหายจากการรับบริการมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างผู้รับบริการและผู้ให้บริการ ที่เคยเป็นมาด้วยดีลดน้อยลงจากเดิม เกิดความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน เป็นผลเสียต่อระบบบริการสาธารณสุขของประเทศ การผลักดันให้มีกฎหมายเพื่อให้ความคุ้มครองผู้ที่ได้รับความเสียหายจากบริการสาธารณสุข จึงเป็นทางออกหนึ่งที่จะช่วยคุ้มครองทั้งผู้รับบริการและผู้ให้บริการ ช่วยลดปัญหาการฟ้องร้องที่จะเกิดขึ้น และรักษาความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วย ทั้งนี้ จากข้อมูลของแพทยสภา ตั้งแต่ปี 2533-2549 มีกรณีความผิดที่เข้าสู่การพิจารณาของแพทยสภา ทั้งสิ้น 2,802 เรื่อง โดยกว่าครึ่งเป็นเรื่องการรักษาไม่ได้มาตรฐาน 1,500 เรื่อง รองลงมาเป็น การโฆษณาการประกอบวิชาชีพ 350 เรื่อง การปฏิบัติตนเกี่ยวกับสถานพยาบาล 260 เรื่อง ไม่คำนึงถึงความปลอดภัย 238 เรื่อง และอื่นๆ 454 เรื่อง นายแพทย์ศุภชัย กล่าวต่อว่า ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ จะช่วยให้เกิดการพัฒนาระบบเพื่อเพิ่มความปลอดภัยแก่ผู้ป่วย ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการประกอบวิชาชีพทางสุขภาพ จะได้รับการเยียวยาความเสียหายอย่างสะดวก รวดเร็ว โดยไม่ต้องมีการพิสูจน์ความถูกผิด ขณะที่ผู้ให้บริการจะได้รับการคุ้มครองจากการถูกฟ้องร้องทางอาญา ในกรณีที่ความเสียหายเกิดขึ้นกับผู้ป่วยโดยไม่ได้เจตนา โดยมีการจัดตั้งเป็นกองทุนคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ซึ่งมีคณะกรรมการชุดต่างๆ ทำหน้าที่พิจารณาคำร้องประเมินค่าชดเชยความเสียหาย รวมทั้งวินิจฉัยอุทธรณ์ หากผู้เสียหายไม่เห็นด้วยกับการพิจารณา ************************ 23 เมษายน 2550


   
   


View 17    23/04/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ