วันนี้ (15 มิถุนายน 2555) เวลา 15.30 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และเสด็จพระราชดำเนินทรงตัดแถบแพรเปิดห้องไตเทียม และหอผู้ป่วยวิกฤติ ทอดพระเนตรนิทรรศการ ณ โรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร โดยมีนายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์              สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ ประธานกรรมการโรงพยาบาล              บ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ เฝ้ารับเสด็จฯ

                นายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ ประธานกรรมการโรงพยาบาลบ้านแพ้ว กล่าวบังคมทูลรายงานว่า โรงพยาบาลบ้านแพ้ว ก่อตั้งเมื่อ ปี พ.ศ.2508 เป็นโรงพยาบาลของรัฐและได้เปลี่ยนรูปแบบการบริหาร              เป็นองค์การมหาขนในปี พ.ศ.2543 ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยในปี         พ.ศ. 2532 ชาวบ้านแพ้วและใกล้เคียงได้ร่วมกันบริจาคทุนทรัพย์สร้างตึกผู้ป่วยหลักแรก เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 5 ชั้น ขนาด 100 เตียง เพื่อเทิดพระเกียรติเนื่องในวโรกาสสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงมีพระชนมายุครบ 90 พรรษา ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงพระราชทานพระนามาภิไธยย่อ สว. และชื่อตึกว่า สมเด็จย่า 90 พรรษา ต่อมาในปี พ.ศ.2545 ได้ก่อสร้างตึกสมเด็จย่าขนาด 100 เตียง เพิ่มขึ้นอีก 1 อาคาร
 
สำหรับพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีออกแบบโดยช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร                มีความสูงขนาด 1.5 เท่าของพระองค์จริง มีพิธีหล่อพระรูปเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2553 และอัญเชิญพระรูปประดิษฐานเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2554 ที่บริเวณหน้าอาคารสมเด็จย่า 90 พรรษา โรงพยาบาลบ้านแพ้วฯ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ ประชาชนได้ถวายความจงรักภักดี น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านที่มีต่อการสาธารณสุขไทย
 
                ปัจจุบันโรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) มีขนาด 300 เตียง มีหน่วยฟอกไตเทียม 1 ยูนิต ให้บริการผู้ป่วย 15 เตียง หอผู้ป่วยวิกฤติ 8 เตียง บริหารในรูปของคณะกรรมการ ที่ได้จากการสรรหาบุคคลต่างๆ จำนวน 11 คน ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่พระราชกฤษฏีกาการจัดตั้งโรงพยาบาลบ้านแพ้วฯ พ.ศ.2543 ดูแลประชากร 93,000 คน มีบุคลากรให้บริการ 980 คน ผู้ป่วยนอกมารับบริการเฉลี่ยวันละ 1,500 ราย ผู้ป่วยในเฉลี่ยวันละ 224 ราย โรคที่พบมากได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ ให้บริการฟอกเลือดผู้ป่วยไตวายปีละ 8,075 ราย โดยโรงพยาบาลได้ขยายหน่วยบริการนอกพื้นที่เพิ่ม 8 สาขาในกทม. นนทบุรี และสมุทรสาคร และเตรียมความพร้อมการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 เนื่องจากมีแพทย์เฉพาะทางชำนาญการสาขาต่างๆ เช่น ด้านศัลยแพทย์ ด้านจักษุแพทย์ ด้านทันตกรรม ออโธปิดิกส์ กุมารแพทย์ โรคหัวใจ ICU อุบัติเหตุฉุกเฉิน ฯลฯ รวมทั้งรองรับการขยายตัวของการคมนาคมเชื่อมต่อท่าเรือต่างๆ ของประเทศไทย ในโครงการทวาย ประเทศพม่า
 
************************************ 15 มิถุนายน 2555
 


   
   


View 16    15/06/2555   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ