รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกำชับโรงพยาบาลทุกแห่งเตรียมพร้อมทีมแพทย์ฉุกเฉินรับมืออุบัติเหตุจราจรตลอด 24ชั่วโมง โดยเฉพาะโรงพยาบาลบนถนน 4 สายหลักคือ เอเชีย พหลโยธิน มิตรภาพ และสุขุมวิท ประชาชนโทรแจ้งขอความช่วยเหลือได้ที่สายด่วน 1669 ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมแนะประชาชนดูแลความปลอดภัยชีวิตตนเอง งดดื่มเหล้าก่อนเดินทางอย่างน้อย 1 วัน พักผ่อนให้เพียงพอ คาดเข็มขัดนิรภัยสวมหมวกกันน็อคทุกครั้งที่ขับขี่ ไม่ขับเร็ว ดื่มแล้วไม่ขับ ง่วงไม่ขับ และงดกินยาที่จะทำให้ง่วง เช่น ยาแก้ไอ แก้หวัด ลดน้ำมูก คลายกล้ามเนื้อ คลายเครียด
นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่าเทศกาลสงกรานต์ปี 2555นี้ ซึ่งมีวันหยุดต่อเนื่อง 4 วัน ประชาชนจะออกเดินทางทั้งไปท่องเที่ยวและกลับภูมิลำเนาจำนวนมาก ทำให้มีอุบัติเหตุสูงกว่าช่วงปกติประมาณ 2เท่าตัว ได้กำชับให้โรงพยาบาลในถนนสายหลัก ได้แก่เอเชีย มิตรภาพ พหลโยธินและสุขุมวิทเตรียมทีมแพทย์ฉุกเฉินบริการตลอด24 ชั่วโมง เนื่องจากจะมีปริมาณรถมากกว่าปกติ โดยเพิ่มแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอุบัติเหตุทุกสาขา เสริมกับทีมแพทย์ทั่วไป เตรียมห้องฉุกเฉิน ห้องผ่าตัด ห้องไอซียูเพิ่มเตียงรับผู้ป่วยขึ้นอีก 3เท่าตัว สำรองคลังเลือดทุกกรุ๊ปประมาณ 3เท่าตัว รวมถึงดูแลระบบการส่งต่อผู้ป่วย ทั้งโรงพยาบาลรัฐ/เอกชนให้มีประสิทธิภาพด้วย โดยประชาชนโทรแจ้งขอความช่วยเหลือที่สายด่วน1669 มีทั้งหมด500 คู่สาย ตลอด24ชั่วโมง ซึ่งประชาชนจะได้รับบริการด้วยมาตรฐาน 3เร็ว 2ดี
นายวิทยากล่าวว่าในวันที่ 12 เมษายนนี้ ประชาชนจะเริ่มทยอยเดินทางไปเที่ยวฉลองในเทศกาลสงกรานต์ในต่างจังหวัด ขอย้ำเตือนก่อนเดินทาง ขอให้เตรียมตัวล่วงหน้าโดยงดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อนเดินทาง 1วันและพักผ่อนให้เต็มที่อย่างน้อย 8ชั่วโมง ห้ามกินยาที่ทำให้เกิดอาการง่วง เช่น ยาแก้แพ้ ลดน้ำมูก ยาแก้ไอ ยาคลายเครียดคลายกล้ามเนื้อ เป็นต้น ขณะขับรถขออย่าประมาทและอย่าขับรถเร็ว คาดเข็มขัดนิรภัย/สวมหมวกนิรภัยทุกครั้ง และเมื่อดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้ว ห้ามขับรถอย่างเด็ดขาด เพราะระดับแอลกอฮอล์ในเลือด แม้จะต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนดคือ50มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ก็ตาม จะมีผลต่อการตัดสินใจช้ากว่าปกติ 2เท่าตัว
ด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า ข้อมูลจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2554 ระบุว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุดคือ เมาสุราพบร้อยละ39 โดยมีพฤติกรรมเสี่ยงของผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากการไม่สวมหมวกนิรภัยร้อยละ 33 พาหนะที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุเป็นรถจักรยานยนต์ถึงร้อยละ 81ส่วนใหญ่ร้อยละ 58 เกิดในถนนสายตรง ส่วนถนนในหมู่บ้านพบร้อยละ 35 และบนทางหลวงพบร้อยละ 33
ทั้งนี้ ความปลอดภัยในชีวิตของผู้โดยสารรถขึ้นอยู่กับคนขับหากมีอาการง่วง อย่าฝืนขับเด็ดขาดจะเสี่ยงต่อการหลับใน ขอให้จอดรถในที่ปลอดภัยเพื่องีบหลับหรือสลับให้คนอื่นขับแทน ซึ่งผลของการง่วงนอนจะทำให้ประสาทสัมผัสทุกอย่างช้าลง การตัดสินใจผิดพลาด สมองสั่งการกล้ามเนื้อช้าลง เมื่อเกิดเหตุการณ์คับขันจึงแตะเบรกได้ช้ากว่าปกติเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย การหลับในเพียง 4วินาที ก็อาจทำให้บาดเจ็บ เสียชีวิตได้
โดยหากรถวิ่งเร็ว 90กิโลเมตรต่อชั่วโมง และคนขับอยู่ในอาการหลับใน รถจะวิ่งต่อไปอีก 100เมตรโดยที่ไม่มีคนควบคุมรถ หากชนกับสิ่งขีดขวาง ความรุนแรงของการพุ่งชน จะเทียบได้กับการตกตึกสูงถึง 10ชั้น
***********************12 เมษายน 2555