กระทรวงสาธารณสุข เผยมีหญิงวัยแรงงานที่ทำงานนอกบ้าน กว่าร้อยละ 50 ไม่ได้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ รุกช่วยหญิงวัยแรงงานในโรงงานให้นมลูกได้ในขณะทำงาน หนุนให้ลาคลอดได้มากกว่า 45 วัน ตั้งศูนย์เด็กเล็ก และจัดมุมอำนวยความสะดวกให้แม่สามารถให้นมลูกได้ในที่ทำงาน ส่วนปัญหาอ้วนลงพุงก็กำลังมาแรง โดยขนาดเอวที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 5 เซนติเมตร จะเพิ่มโอกาสเกิดโรคเบาหวาน 3-5 เท่า วันนี้ (27 มีนาคม 2550) ที่โรงแรมเชียงใหม่ออร์คิด จ.เชียงใหม่ นายแพทย์ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา อธิบดีกรมอนามัย เป็นประธานเปิดการประชุม ชี้แจงนโยบายและแนวทางการดำเนินงาน “โครงการโรงพยาบาลสายใยรักแห่งครอบครัว และโครงการคนไทยไร้พุง” โดยมีนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปทุกแห่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 1-12 ผู้อำนวยการสำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารและนักวิชาการจากกรมอนามัย เข้าร่วมประชุมประมาณ 250 คน เพื่อให้โรงพยาบาลและสถานบริการสาธารณสุขทุกแห่งทั่วประเทศ ทั้งภาครัฐและเอกชน ที่เข้าร่วมโครงการโรงพยาบาลสายใยรักแห่งครอบครัวและโครงการคนไทยไร้พุง มีความรู้ความเข้าใจและสามารถบริหารจัดการทั้ง 2 โครงการได้อย่างมีประสิทธิภาพ นายแพทย์ณรงค์ศักดิ์ กล่าวว่า ผลการศึกษาอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของสำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย ในปี 2548 พบทั่วประเทศมีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวเพียงร้อยละ 14.5 ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้คือร้อยละ 25 แม้ว่าจะมีการรณรงค์ส่งเสริมให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่นาน 6 เดือนมาอย่างต่อเนื่อง แต่พบว่าในปี 2549 มีเด็กที่กินนมแม่เพียงอย่างเดียวร้อยละ 15 โดยเด็กในภาคตะวันออกเฉียงเหนือกินนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนร้อยละ 20 ภาคใต้ร้อยละ15 ภาคกลางร้อยละ 9 และภาคเหนือร้อยละ 8 ยังต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนด กระทรวงสาธารณสุขได้น้อมรับแนวพระดำริของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรราชาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ที่ทรงจัดตั้งโครงการสายใยรักแห่งครอบครัว เพื่อรณรงค์ปลูกจิตสำนึกของสังคมไทย ให้เห็นความสำคัญของสถาบันครอบครัว ทรงมีเป้าหมายสร้างสถาบันครอบครัวให้แนบแน่น เด็กได้รับการเลี้ยงดูที่ดี เพื่อให้มีการเจริญเติบโตและมีพัฒนาการสมวัย โดยมีภารกิจหลักคือ การส่งเสริมเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยเน้นการดูแลและส่งเสริมให้มีการจัดตั้งกลุ่มแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในชุมชน เพื่อให้สมาชิกช่วยเหลือดูแลซึ่งกันและกันในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวนาน 6 เดือน และกินนมแม่ถึง 2 ปีร่วมกับอาหารเสริมอื่นๆ ซึ่งจะส่งผลให้อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพิ่มขึ้น สำหรับหญิงวัยเจริญพันธุ์ซึ่งเป็นวัยแรงงาน ส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 50 ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม และทำงานในเมืองมากกว่าชนบท จึงต้องฝากลูกไว้กับญาติและให้เด็กดื่มนมผสมแทน ทำให้อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวลดลง กระทรวงสาธารณสุขได้เร่งหาแนวทางแก้ไขปัญหานี้ เพื่อให้แม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวนาน 6 เดือน โดยหาช่องทางสนับสนุนให้มีมาตรการทางกฎหมายสำหรับหญิงหลังคลอดที่ทำงานในโรงงาน ให้ลาคลอดได้มากกว่า 45 วัน จัดหาผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำแม่คลอดใหม่ปั๊มนมไว้ให้ลูกดื่ม และเก็บในภาชนะที่สะอาดปลอดภัยหากฝากลูกให้ผู้อื่นเลี้ยง และสนับสนุนให้โรงงานหรือสถานที่ทำงาน มีศูนย์เด็กเล็กและมีมุมให้แม่บีบน้ำนมเก็บไว้ให้ลูกได้ในขณะทำงาน นายแพทย์ณรงค์ศักดิ์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของภาวะอ้วนลงพุง ขณะนี้กำลังเป็นปัญหาที่คุกคามและบั่นทอนคุณภาพชีวิตคนไทย ทำให้ป่วยด้วยโรคที่ป้องกันได้ และสูญเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาพยาบาลเป็นจำนวนมาก จากผลการสำรวจในปี 2547 ประมาณว่าคนไทยอายุมากกว่า 35 ปีหรือ 9.3 ล้านคน มีเส้นรอบเอวเกินมาตรฐานที่กำหนด คือ ผู้ชายเกิน 36 นิ้ว และผู้หญิงเกิน 32 นิ้ว หรือมีภาวะอ้วนลงพุง ซึ่งคนกลุ่มนี้พบว่าเป็นเบาหวานมากกว่าคนที่ไม่อ้วนลงพุง 3 เท่า มีความดันโลหิตสูงและไขมันโคลเรสเตอรอลในเลือดสูงมากกว่า 2 เท่า เสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดสมองมากกว่า 1 เท่าตัว ดังนั้นเพื่อส่งเสริมพฤติกรรมสุขภาพ สร้างสุขภาพดีป้องกันการเจ็บป่วย กระทรวงสาธารณสุข จึงได้รณรงค์โครงการคนไทยไร้พุง และมอบนโยบายให้ผู้บริหารทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เป็นตัวอย่างในการลดน้ำหนักและขนาดรอบเอว ทั้งตนเองและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในสังกัดด้วย ทั้งนี้ การมีไขมันสะสมที่ส่วนกลางลำตัว จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและเบาหวานมากกว่าการมีไขมันสะสมที่สะโพก ซึ่งคนที่มีขนาดรอบเอวเกินมาตรฐาน เป็นดัชนีบ่งชี้การมีไขมันเกินในช่องท้อง และมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โดยเอวที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 5 เซนติเมตร จะเพิ่มโอกาสเกิดโรคเบาหวาน 3-5 เท่า ยิ่งพุงใหญ่เท่าไหร่ยิ่งเสี่ยงมากเท่านั้น จึงต้องเร่งรณรงค์ทำให้คนไทยไร้พุงให้ได้ โดยในปีนี้กรมอนามัย ได้ตั้งเป้าให้ประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไปที่มีประมาณ 45 ล้านคน ออกกำลังกายอย่างพอเพียง สม่ำเสมอสัปดาห์ละ 3 วันๆละ 30 นาที ให้ได้ร้อยละ 65 ****************************** 27 มีนาคม 2550


   
   


View 12    27/03/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ