วันนี้ (3 พฤศจิกายน 2554) นายวิทยา  บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ไพจิตร์  วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลราชวิถี เพื่อดูการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำท่วมในกทม.

นายวิทยากล่าวว่า ผลการตรวจเยี่ยมพบว่าหากมีน้ำท่วมโรงพยาบาล (รพ.)  รพ.ราชวิถีได้เตรียมการรองรับเป็นอย่างดีตามมาตรการ 9 ข้อที่ได้มอบนโยบายไว้ ได้แก่ 1.ป้องกันน้ำท่วมสถานที่ 2.สำรองทรัพยากร เช่น ออกซิเจน ไฟฟ้า และอาหารผู้ป่วย สามารถใช้การได้ 3 เดือน ประชาชนหายห่วงได้ 3.จัดบริการสถานที่ที่จำเป็น เช่นการย้ายบริการจากชั้น 1 ไปชั้นบนเพื่อให้เกิดความปลอดภัย 4.การจัดบริการนอกสถานที่ 5.การส่งต่อเคลื่อนย้ายผู้ป่วยทุกประเภท เพื่อให้เกิดความปลอดภัย 6.ให้เตรียมเส้นทางหลักและเส้นทางสำรองในการส่งต่อผู้ป่วยให้มีความคล่องตัวและรวดเร็ว 7.เตรียมยานพาหนะ เช่น รถยก รถสูง เรือ และสถานที่รับเฮลิคอปเตอร์ 8.การจัดตั้งศูนย์อพยพและศูนย์ช่วยเหลือประชาชน และ 9.การตั้ง รพ.สนามรองรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม แต่คาดว่า รพ.ราชวิถีน่าจะไม่ถูกน้ำท่วม

                 

                 

          นายวิทยากล่าวต่อว่า ในจัดระบบการดูแลผู้ป่วยเพื่อรองรับสถานการณ์น้ำท่วมกทม. กระทรวงสาธารณสุขได้ให้โรงพยาบาลราชวิถีเป็นศูนย์กลางประสานส่งต่อผู้ป่วยจากรพ.ทุกสังกัดในกทม. และปริมณฑลที่ถูกน้ำท่วม ไปยังรพ.ในจังหวัดที่น้ำไม่ท่วม โดยรพ.ราชวิถีมีขนาด 1,200 เตียง ขณะนี้ได้ย้ายผู้ป่วยหนักที่อาการคงที่ไปแล้ว 160 กว่าราย ยังเหลือผู้ป่วยทั้งหมด 441 ราย และรับผู้ป่วยใหม่นอนรักษาในรพ.วันละประมาณ 80-100 ราย

          สำหรับที่รพ.พระนครศรีอยุธยา ขณะนี้ระดับน้ำลดลง แต่ยังมีน้ำขังในบริเวณรพ.อยู่ จะเร่งสูบออกโดยเร็ว  หากระบบน้ำ ไฟฟ้าพร้อม คาดว่าภายใน 2 สัปดาห์นี้ จะสามารถเปิดให้บริการผู้ป่วยหนักหรือไอซียู และทำการผ่าตัดได้ รวมทั้งรับผู้ป่วยไว้รักษาได้เพิ่มเป็น 180 เตียง จากการประเมินเบื้องต้นค่าเสียหายประมาณ 141 ล้านบาท ในส่วนของรพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบลในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ส่วนใหญ่ถูกน้ำท่วม กระทรวงสาธารณสุขได้ระดมทีมเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจากรพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบล จังหวัดอุดรธานี  100 คน มาช่วยแบ่งเบาภาระเจ้าหน้าที่ ซึ่งบ้านถูกน้ำท่วมด้วย นายวิทยากล่าว 

ทางด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต  ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ผลการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ของกระทรวงสาธารณสุขในพื้นที่น้ำท่วมทุกจังหวัด จนถึงปัจจุบันพบผู้เจ็บป่วยแล้วประมาณ 1.3 ล้านราย ส่วนใหญ่เป็นโรคน้ำกัดเท้า ผลการตรวจสุขภาพจิตใน 37 จังหวัด พบมีความเครียด 110,860 ราย เครียดระดับสูง 5,616 ราย ซึมเศร้า 6,692 ราย เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย 998 ราย และต้องติดตามดูแลเป็นพิเศษ 1,575 ราย ให้ยาคลายกังวล 4,943 ราย ในส่วนของกทม.จากการจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เชิงรุก 8 ทีม ไปบริการที่เขตทวีวัฒนา สายไหม และบางพลัด มีประชาชนเจ็บป่วยประมาณ 800 ราย  นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขยังได้ส่งอสม. จำนวน 11,856 คน ไปปฏิบัติงานดูแลฟื้นฟูสุขภาพ และดูแลด้านสิ่งแวดล้อม ผู้ประสบภัยที่อยู่ในศูนย์พักพิงต่างๆ จำนวน 216 แห่ง ให้บริการไปแล้ว 82,821 ราย  

   ********************************  3 พฤศจิกายน 2554



   
   


View 6       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ