รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สั่งกรมอนามัยผลิตชุด นายสะอาด 500,000 ชุด แจกครัวเรือนน้ำท่วม ป้องกันโรคระบาด แต่ละชุดจะมีน้ำอีเอ็มกำจัดน้ำเน่าเสีย ย่อยสลายอุจจาระ คลอรีนน้ำ น้ำยาล้างจาน ถุงดำใส่ขยะ ใส่อุจจาระ ใช้ได้นาน1สัปดาห์ ส่วนยอดผู้เจ็บป่วยจากน้ำท่วมขณะนี้พุ่งเกินครึ่งล้านราย
วันนี้ ( 8 ตุลาคม 2554) นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เดินทางไปตรวจเยี่ยมให้กำลังใจผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ อ.บางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยตรวจเยี่ยมดูแลความสะอาดจุดปรุงอาหารแจกผู้ประสบภัย และนำน้ำดื่มบรรจุขวด อาหารแห้ง อาหารกล่องแจกผู้ประสบภัยตามบ้าน ซึ่งได้ให้ผู้นำชุมชนนำเรือมารับอาหาร และนำไปแจกตามบ้านครบ 3 มื้อ ชาวบ้านไม่ต้องเดินทางมารับเอง เนื่องจากกระแสน้ำเชี่ยว
นายวิทยากล่าวว่า ปัญหาที่ต้องเร่งดำเนินการทุกฝ่ายก็คือ การดูแลผู้ประสบภัยอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะปัจจัยสี่ เนื่องจากน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขได้ให้ทุกจังหวัดดูแลเรื่องยาสามัญประจำบ้านหรือยาตำราหลวงให้มีทุกครอบครัว เพื่อใช้บรรเทาอาการเจ็บป่วยเบื้องต้น ขณะนี้ได้แจกไปแล้ว 1,514,200 ชุด สั่งสำรองอีก 5 แสนชุด เพื่อให้เพียงพอ โดยเฉพาะยารักษาโรคน้ำกัดเท้า ซึ่งเป็นปัญหาอันดับ1 ในเวลานี้ พบได้ประมาณร้อยละ 70 ของผู้ป่วยที่รับบริการตรวจรักษาไปแล้วทั้งหมด 513,860 รายโดยหากประชาชนมีความต้องการเพิ่มอีก สามารถขอรับได้ที่หน่วยแพทย์เคลื่อนที่หรือแจ้งที่ อสม.ทุกหมู่บ้าน จะนำยาไปส่งถึงบ้าน
นายวิทยากล่าวต่อว่า ได้สั่งการให้กรมอนามัย ผลิตชุดเครื่องใช้จำเป็นในการป้องกันโรคในช่วงประสบภัยน้ำท่วม ชื่อว่า “ชุดนายสะอาด” ประกอบ 5 รายการ ได้แก่ 1.ถุงดำใส่ขยะ 2.ถุงดำใส่อุจจาระ อย่างละ 40 ใบ 3.น้ำยาล้างจาน 1 ขวด 4.น้ำยาอีเอ็ม ใช้กำจัดน้ำเน่าเสีย ซึ่งใช้ย่อยสลายอุจจาระได้ด้วย และ5.น้ำยาหยดทิพย์ ซึ่งเป็นคลอรีนน้ำ ใช้สำหรับใส่ฆ่าเชื้อโรคในน้ำบริโภค จะใช้ได้นาน 1 สัปดาห์ มอบให้ใช้ในครัวเรือน ขณะนี้ได้จัดส่งไปแล้ว 12,000ชุด ได้จัดส่งไปให้ผู้ประสบภัยที่ชัยนาท สิงห์บุรี พบว่าชาวบ้านชอบมาก ให้เร่งจัดทำเพิ่มอีก 500,000 ชุด เพื่อนำไปแจกจ่ายให้ผู้ประสบภัยใช้อย่างทั่วถึงต่อไป
นายวิทยากล่าวอีกว่า ไดรับรายงานจากแพทย์ประจำหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ พบว่าผู้ประสบภัยเริ่มมีปัญหาบาดแผลอักเสบติดเชื้อเพิ่มขึ้น เนื่องจากไม่สามารถหลีกเลี่ยงเดินลุยน้ำได้ เช่นที่โรงพยาบาลท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา พบ 35 ราย จึงได้มอบนโยบาย ปรับบริการดูแลให้เหมาะสมกับสภาพปัญหาของประชาชน โดยให้โรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล พัฒนาชุดทำแผลปลอดเชื้อ ซึ่งประกอบด้วยน้ำยาล้างแผล น้ำยาใส่แผล สำลี ผ้าก็อซ และพลาสเตอร์ปิดแผล แจกและสอนวิธีการดูแลล้างทำความสะอาดแผล เพื่อให้ผู้ที่มีบาดแผลใช้ดูแลตนเองได้ที่บ้าน ใช้ได้นาน 1 สัปดาห์
ทั้งนี้หากประชาชนผู้ประสบภัย มีบาดแผลเกิดขึ้น และไม่มีน้ำยาล้างแผล สามารถทำน้ำยาล้างแผลง่ายๆ ใช้ในเบื้องต้น คือให้ใช้น้ำดื่มบรรจุขวด 1 แก้ว และใส่เกลือป่นขนาด ปลายช้อนชา คนให้ละลาย และใช้ล้างแผลได้ หลังจากนั้นให้ใช้โพวิดีนใส่แผล และระมัดระวังอย่าให้แผลเปียกน้ำ หากแผลมีปัญหาอักเสบ บวมแดง มีหนอง ขอให้ไปพบแพทย์ที่หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ หรือที่โรงพยาบาลที่อยู่ใกล้บ้าน
******************************************** 8 ตุลาคม 2554