กระทรวงสาธารณสุข ลงตรวจพื้นที่จังหวัดมุกดาหารภายหลังพบไก่ติดเชื้อไข้หวัดนก กำชับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุข เฝ้าระวังอาการคนในพื้นที่ที่มีสัตว์ปีกป่วย/ตายต่อเนื่อง 14 วัน เตือนประชาชนให้ระมัดระวังตัว อย่าเสี่ยงสัมผัสไก่ป่วย/ตายโดยไม่ป้องกันตัว หากมีไข้ ไอ มีประวัติสัมผัสไก่ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ เพื่อรับการรักษาทีถูกต้อง รวดเร็ว วันนี้ (20 มีนาคม 2550) นายแพทย์ปัญญา สอนคม ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์สมยศ เจริญศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เดินทางไปติดตามการดำเนินงานควบคุมและป้องกันโรคไข้หวัดนก ที่จังหวัดมุกดาหาร ภายหลังได้รับรายงานไก่ตายด้วยโรคไข้หวัดนก โดยจะเดินทางไปที่ชุมชนหินเรือ ตำบลศรีบุญเรือง และที่ศูนย์ฝึกอบรมอาชีพราษฎรตามแนวชายแดนไทย-ลาว ตำบลบางทรายใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร ซึ่งเป็นจุดพบไก่ป่วยตาย ก่อนที่จะเดินทางไปดูความพร้อมของห้องแยกผู้ป่วยติดเชื้อโรคไข้หวัดนกที่โรงพยาบาลมุกดาหาร นายแพทย์ปัญญา กล่าวว่า จากการสอบสวนโรคพบมีสัตว์ปีกตาย 2 จุด คือ จุดที่ 1 ที่ศูนย์ฝึกอบรมอาชีพราษฎรตามแนวชายแดนไทย-ลาว บ้านสงเปือย ตำบลบางทรายใหญ่ อำเภอเมือง ซึ่งเป็นสถานที่ฝึกอาชีพของการศึกษานอกโรงเรียน ได้เลี้ยงไก่พื้นเมือง 107 ตัว ทยอยตายวันละ 4-5 ตัว ตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม 2550 จุดที่ 2 ที่ชุมชนหินเรือ ตำบลศรีบุญเรือง เขตเทศบาลเมืองมุกดาหาร เกษตรกรเลี้ยงไก่พื้นเมืองไว้ 105 ตัว มีไก่ตายผิดปกติ ซึ่งทั้ง 2 จุดได้แจ้งปศุสัตว์วันที่ 15 มีนาคม 2550 ทางปศุสัตว์ได้ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างเชื้อส่งตรวจและทำลายไก่ทั้งหมด รวมทั้งทำลายไข่ที่มีเชื้อด้วย และในวันที่ 16 มีนาคม 2550 ได้มีการทำลายไก่ในรัศมี 1 กิโลเมตรพร้อมพ่นยาฆ่าเชื้อโรคเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในส่วนของผู้สัมผัสโรค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมุกดาหาร ได้ส่งทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วออกสอบสวนโรคและค้นหาผู้สัมผัสโรคที่ชุมชนหินเรือ พบผู้สัมผัสไก่ 1 ราย ที่ศูนย์ฝึกฯพบผู้สัมผัสไก่ 8 ราย ได้ให้ยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ ตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2550 และจะให้ต่อเนื่องเป็นเวลา 7 วัน ขณะนี้ทุกคนอาการปกติ ไม่มีการเจ็บป่วย และเฝ้าระวังต่อจนครบ 14 วัน นายแพทย์ปัญญา กล่าวว่า ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและ อสม. ทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ ติดตามอาการของประชาชนทุกหมู่บ้าน รวมทั้งการป่วย/ตายของสัตว์ปีกในหมู่บ้านด้วยทุกวัน ตามมาตรการที่กำหนดไว้เป็นแนวเดียวกันทั่วประเทศ โดยเฉพาะจุดที่พบสัตว์ปีกตาย จะเฝ้าระวังในคนเป็นเวลา 14 วัน ส่วนสัตว์ปีกต้องเฝ้าระวังต่ออีก 30 วันตามมาตรฐานกรมปศุสัตว์ รวมทั้งพื้นที่อื่นๆ ด้วย ทั้งที่มีและยังไม่มีสัตว์ปีกป่วยตาย ทั้งนี้ ขอเตือนประชาชนหากพบสัตว์ปีกป่วยตาย อย่าไปสัมผัสหรือเอามาชำแหละปรุงอาหาร และหากมีอาการป่วยด้วยไข้ ไอ หายใจหอบ และมีประวัติสัมผัสกับสัตว์ปีกป่วยหรือตาย หรืออยู่ในพื้นที่มีสัตว์ปีกป่วย/ตาย ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรืออสม.ที่อยู่ใกล้ทันที อย่าซื้อยารักษาตัวเองจะเป็นอันตราย เพราะโรคนี้มีอัตราตายสูงถึงร้อยละ 70 ต้องรักษาด้วยยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้จัดเตรียมไว้ให้ในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่ง สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 80,000 ราย โดยสามารถให้ยาทันทีหลังผลทดสอบเบื้องต้นเป็นบวก หรือภายใน 48 ชั่วโมง โดยไม่ต้องรอผลยืนยัน รวมทั้งมีชุดทดสอบเชื้อไข้หวัดใหญ่ภาคสนามไว้ในโรงพยาบาลทุกระดับอย่างเพียงพอ ตลอด 24 ชั่วโมงอีกด้วย ทางด้านนายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ผลการเฝ้าระวังผู้ป่วยโรคไข้หวัดนก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2550 ถึงวันที่ 18 มีนาคม 2550 สำนักระบาดวิทยาได้รายงานมีผู้ป่วยที่มีอาการไข้ ไอ หรือป่วยด้วยปอดบวม ไข้หวัดใหญ่ ที่อยู่ในข่ายเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนก จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ สำนักงานป้องกันควบคุมโรค 12 เขต สะสมทั้งหมด 1,096 ราย จาก 62 จังหวัด ในวันที่ 16-18 มีนาคม 2550 ได้รับรายงาน 7 ราย ดังนี้ จ.นนทบุรี 2 ราย ส่วนกาญจนบุรี ลำปาง สิงห์บุรี พิจิตร และกำแพงเพชร จังหวัดละ 1 ราย ผลการตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ไม่พบรายใดติดเชื้อไข้หวัดนก ขณะนี้ยังมีผู้ป่วยอยู่ระหว่างการสอบสวน และรอผลการตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการจำนวน 2 ราย สำหรับสถานการณ์การป่วยของโรคไข้หวัดนกทั่วโลก องค์การอนามัยโลกรายงานว่า ขณะนี้การระบาดของโรคไข้หวัดนกยังอยู่ระหว่างการติดจากสัตว์ปีกสู่คน ยังไม่มีการติดต่อจากคนสู่คน โดยตั้งแต่ พ.ศ.2546-16 มีนาคม 2550 มีผู้ป่วยยืนยันโรคไข้หวัดนก 279 ราย เสียชีวิต 169 ราย ใน 12 ประเทศ คือ อาเซอร์ไบจัน กัมพูชา จีน จิบูตี อียิปต์ อินโดนีเซีย อิรัก ลาว ตุรกี เวียตนาม ไนจีเรียและไทย โดยเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2550 กระทรวงสุขภาพของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ได้รายงานผู้ป่วยยืนยันโรคไข้หวัดนกรายที่ 2 ของประเทศ ******************************************** 20 มีนาคม 2550


   
   


View 16    20/03/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ