วันนี้ (19 กันยายน 2554) เวลา 15.15 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดแพรคลุมป้าย อาคารเรียนศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิกฯ และอาคารคนไข้อายุรกรรม ทอดพระเนตรนิทรรศการการดูแลผู้พิการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบ ภายใต้โครงการเส้นทางใหม่ ณ โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส และพระราชทานถุงยังชีพให้ผู้ป่วย 4 ราย ทอดพระเนตรหน่วยไตเทียมเฉลิมพระเกียรติ โดยมี นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์วิรุฬห์ พรพัฒน์กุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และประชาชนในพื้นที่เฝ้ารับเสด็จ 

นายวิทยากราบบังคมทูลถวายรายงานว่า ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ ได้เริ่มก่อสร้างเมื่อพ.ศ.2552 ในโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท แก้ไขปัญหาขาดแคลนแพทย์ปฏิบัติงานในพื้นที่จากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเวลา 9 ปี ตั้งแต่พ.ศ. 2548-2557 โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สร้างแล้วเสร็จเมื่อปี 2554 ใช้งบก่อสร้าง 66.8 ล้านบาท เป็นอาคาร 3 ชั้น ชั้นที่ 1 ห้องสมุด ชั้น 2 ห้องเรียนและห้องสำนักงาน และชั้น 3 เป็นห้องเรียนและห้องประชุม และมีหอพักนักศึกษาแพทย์ ขนาด 5 ชั้น สำหรับอาคารคนไข้อายุรกรรม ก่อสร้างเมื่อ พ.ศ.2550 แล้วเสร็จในพ.ศ. 2553 ได้รับงบก่อสร้างจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล จำนวน 44 ล้านบาท เป็นอาคารขนาด 4 ชั้น มีเตียงผู้ป่วย 120 เตียง ประกอบด้วยผู้ป่วยสามัญ 96 เตียง ผู้ป่วยพิเศษ 24 เตียง ชั้นที่ 1 และ 2 เป็นหอผู้ป่วยอายุรกรรมชายและศัลยกรรมชาย ส่วนชั้นที่ 3 และ 4 เป็นหอผู้ป่วยศัลยกรรมหญิง และอายุรกรรมหญิง

                

        

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายพัฒนาโรงพยาบาลนราธิวาสฯ ให้เป็นโรงพยาบาลศูนย์เฉพาะทางที่มีการรักษาผู้ป่วยโรคไต โรคหัวใจและผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุทุกชนิด เพื่อให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ใต้สุดของประเทศ ได้รับบริการใกล้บ้าน ไม่ต้องเดินทางไกลไปรักษาที่อื่น เช่นที่จังหวัดสงขลา ต้องใช้เวลาเดินทางนานถึง 2 ชั่วโมง จะมีการลงทุนทั้งสถานที่ เครื่องมือแพทย์ พร้อมจะให้บริการในปี 2557 และเต็มรูปแบบในปี 2560 นอกจากนี้ โรงพยาบาลนราธิวาสฯได้จัดทำโครงการเส้นทางใหม่ เป็นศูนย์เยียวยาผู้บาดเจ็บและพิการจากเหตุความไม่สงบใน 3 จังหวัดภาคใต้ โดยเฉพาะผู้พิการอัมพาตครึ่งท่อนล่าง ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีผลกระทบจิตใจอย่างรุนแรง ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองในกิจวัตรประจำวันได้ ทุกรายมีปัญหาสุขภาพจิต ไม่สามารถยอมรับความพิการได้ มีความหวาดระแวง และขาดรายได้ ไม่สามารถประกอบอาชีพเดิมได้ เป็นภาระครอบครัว ในรอบ 7 ปีตั้งแต่พ.ศ. 2547-2554 ที่จังหวัดนราธิวาสมีผู้พิการอัมพาตครึ่งท่อน ทั้งหมด 57 ราย 

โครงการดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้ผู้พิการสามารถช่วยเหลือตนเองได้ ลดภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อยคือแผลกดทับที่ก้น ข้อติด การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ รวมทั้งการลดปัญหาสุขภาพจิต โดยมีการจัดเตรียมความพร้อมสถานที่ เครื่องมือแพทย์ครบถ้วน ศัลยแพทย์ประจำการที่ห้องอุบัติเหตุฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง และมีทีมสหวิชาชีพดูแลระหว่างรักษาตัวในโรงพยาบาล จัดทีมสหวิชาชีพเยี่ยมบ้านภายใน 3 สัปดาห์ เพื่อติดตามการฟื้นฟูสมรรถภาพพร้อมทั้งจดทะเบียนเป็นผู้พิการเพื่อให้ได้รับสิทธิต่างๆ และจัดทีมจิตแพทย์เยียวยาจิตใจ ผลการดำเนินการได้ผลดี อัตราแผลกดทับลดลงจากร้อยละ 50 เหลือร้อยละ 25 ในปี 2554 ผู้ป่วยสามารถพลิกตะแคงตัวขึ้นรถเข็นได้ทุกราย และไม่มีปัญหาความทุกข์ทรมานทางจิตใจแต่อย่างใด

******************************* 19 กันยายน 2554



   
   


View 2       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ