สาธารณสุข เร่งสนองพระปณิธานพระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ฯ โครงการสายใยรักแห่งครอบครัว หนุนเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นาน 6 เดือน โดยขยายการดำเนินงานจากระดับจังหวัด อำเภอลงสู่ระดับตำบล นำร่องศึกษาเป็นต้นแบบปีนี้ 5 จังหวัดคือ ราชบุรี ระยอง ลำพูน อุบลราชธานี และนครศรีธรรมราช ก่อนขยายผลทั่วประเทศในปีหน้า จากการประเมินเบื้องต้นที่ราชบุรี พบได้ผลดี อัตราเลี้ยงด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนเพิ่มจากร้อยละ 40 เป็นร้อยละ 82

วันนี้ (29 สิงหาคม 2554) เวลา 10.30 น. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายา ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯสยามมกุฎราชกุมารเสด็จไปทรงเยี่ยมและติดตามการดำเนินงานโครงการตำบลนมแม่เพื่อสายใยรักแห่งครอบครัวตำบลสวนกล้วย อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี โดยมีนายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และข้าราชการเฝ้ารับเสด็จ
 
 
 นายวิทยา กราบทูลถวายรายงานว่า หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินโครงการโรงพยาบาลสายใยรักแห่งครอบครัว สนองพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ที่ทรงพระราชทานโครงการสายใยรักแห่งครอบครัว เมื่อพ.ศ. 2548 และพระราชทานคำขวัญ นมแม่คือหยดแรกของสายใยรักแห่งครอบครัว และด้วยพระปณิธานของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ ที่ทรงมีเป้าหมายส่งเสริมสถาบันครอบครัว อันประกอบด้วย พ่อ แม่ และลูก อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข เด็กได้รับการเลี้ยงดูที่ถูกต้อง มีความรักความอบอุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งทารกได้กินนมแม่อย่างเดียวจนอายุ 6 เดือน อันจะเป็นรากฐานที่มั่นคงในการพัฒนาชีวิตของเด็กและเยาวชน โครงการดังกล่าวประสบผลสำเร็จอย่างสูง มีโรงพยาบาลรัฐเอกชนในระดับจังหวัดและอำเภอ เข้าร่วมโครงการ 893 แห่ง ทำให้อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวนาน 6 เดือนของไทย เพิ่มจากเดิมร้อยละ 20 ในปี 2550 เป็นร้อยละ 42  ในปี 2553 ซึ่งไทยนับเป็นประเทศเดียวในโลก ที่สถาบันพระมหากษัตริย์ให้การส่งเสริมผลักดัน และประสบผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์   
        
เพื่อสนองต่อพระปณิธานของพระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ฯ ในปี 2554 นี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ขยายโครงการนมแม่ลงสู่ระดับตำบล โดยจัดทำโครงการ ตำบลนมแม่เพื่อสายใยรักแห่งครอบครัว เพื่อให้ท้องถิ่น ชุมชน ประชาชนมีส่วนร่วมในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ติดต่อกันนาน 6 เดือน เพื่อพัฒนาคุณภาพเด็กไทย มีไอคิวและอีคิวสูง เนื่องจากต่อปีมีหญิงคลอดบุตรประมาณ 800,000 ราย เฉลี่ยจะอยู่ในตำบล หมู่บ้านประมาณ 130 คน โดยนำร่องใน 5 ภาค ๆ ละ 1 จังหวัด ๆ ละ 1 ตำบล ภาคเหนือที่ ต.ริมปิง จ.ลำพูน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ ต.เกาะเอ้ จ.อุบลราชธานี ภาคใต้ที่ ต.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช ภาคตะวันออกที่ ต.บ้านค่าย จ.ระยอง ภาคกลางได้ดำเนินการใน ต.สวนกล้วย อ.สวนกล้วย จ.ราชบุรี เพื่อเป็นต้นแบบของประเทศ โดยให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เป็นศูนย์เรียนรู้ ด้วยการใช้แผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์โดยแกนนำชุมชน เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดทำระบบเฝ้าระวัง แผนงานโครงการ และมาตรการทางสังคมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยมีปราชญ์นมแม่ในตำบลและ อสม.ให้ความรู้ประชาชน ปูย่า ตายาย ออกเยี่ยมบ้าน เพื่อขับเคลื่อนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และให้ อบต. เป็นศูนย์ประสานการดำเนินการและประชาสัมพันธ์ผ่านทางวิทยุชุมชน ตั้งเป้าในปี 2555 จะครอบคลุมทุกจังหวัดๆละอย่างน้อย 1-2 ตำบล
 
 
สำหรับที่ต.สวนกล้วย มีประชากรทั้งหมด 13,000 คน มีหญิงตั้งครรภ์ 25 คน และมีหญิงหลังคลอด 102 คน ผลการดำเนินงานให้อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนเพิ่มขึ้น 2 เท่าตัว จากเดิมร้อยละ 40 ใน พ.ศ. 2552 เป็นร้อยละ 82 ใน พ.ศ. 2553 ขณะนี้ได้จัดตั้งกองทุนนมแม่ 1 กองทุน เพื่อกระตุ้นส่งเสริมให้หญิงหลังคลอดเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว มีเงิน 70,000 บาท และองค์การบริหารส่วนตำบลสวนกล้วยได้บรรจุแผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์ตำบลนมแม่เพื่อสายใยรักแห่งครอบครัวในแผนพัฒนาตำบล 3 ปีด้วย 
 
                                                                                                                                                   *********    29 สิงหาคม 2554

 



   
   


View 17    29/08/2554   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ