กระทรวงสาธารณสุข ส่งหน่วยเคลื่อนที่เร็ว ลงพื้นที่บ้านท่ามะไฟ หมู่ 9 ต.ป่ามะคาบ อ.เมือง จ.พิจิตร หลังมีหมูติดเชื้อแบคทีเรียตายนับร้อยตัว เพื่อเฝ้าระวังโรคที่อาจติดมาสู่คนได้ จนกว่าสถานการณ์จะปกติ จนถึงขณะนี้ยังไม่มีใครป่วย แนะเกษตรกรผู้เลี้ยงห้ามนำหมูที่ตายจากโรคทุกชนิด มาชำแหละขายประชาชนโดยเด็ดขาด ห้ามประชาชนกินหมูที่ตายจากโรค แต่หมูทั่วไปยังกินได้ตามปกติ และต้องปรุงสุก
จากกรณีที่มีหมูของชาวบ้านในพื้นที่บ้านท่ามะไฟ หมู่ที่ 9 ต.ป่ามะคาบ อ.เมือง จ.พิจิตร ตายนับ 100 ตัวตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม 2550 หลังจากติดเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า พาสเจอเรลล่า และอี.โคไล ตามที่กรมปศุสัตว์ได้แถลงเมื่อคืนที่ผ่านมา และทางจังหวัดพิจิตรได้ประกาศเป็นเขตโรคระบาดสัตว์ชั่วคราว พร้อมขอความร่วมมือเกษตรกรไม่ให้เคลื่อนย้ายหมูเข้า-ออกพื้นที่ 30 วัน ตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม 2550 เป็นต้นไป
ความคืบหน้าเรื่องนี้ นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิจิตร ส่งทีมเคลื่อนที่เร็วจำนวน 2 ทีม และผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาจากสำนักงานควบคุมโรคเขต 8 นครสวรรค์ อีก 1 ทีม เข้าไปสอบสวนโรคร่วมกับหน่วยปศุสัตว์ ในเบื้องต้นพบว่าหมูตายจากเชื้อแบคทีเรียชื่อว่า อี.โคไล (E.Coli) ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคท้องร่วง แต่พบเฉพาะลูกหมูอายุประมาณ 2 เดือน เริ่มป่วยและทยอยตายตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์วันละ 1-2 ตัว มีหลายบ้าน ส่วนแม่พันธุ์ยังอาการดี จากการติดตามอาการป่วยในคนโดยเฉพาะผู้เลี้ยง ยังไม่มีรายใดเจ็บป่วยด้วยโรคทางเดินอาหารและน้ำ หรือมีอาการผิดปกติอื่นใด ขณะนี้ได้ให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่เฝ้าระวังในคนอย่างใกล้ชิดต่อไป จนกว่าจะไม่มีหมูตายอีก และให้ทุกบ้านดูแลความสะอาดบ้านเรือน ห้องน้ำห้องส้วม ให้ดื่มน้ำสะอาดโดยเฉพาะน้ำต้มสุก กินอาหารที่ปรุงสุกไม่มีแมลงวันตอม และให้ล้างมือฟอกสบู่ให้สะอาดทุกครั้งหลังสัมผัสสิ่งของ และก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง
ทางด้านนายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า หมูที่ตายทุกตัว ต้องรีบทำลายซากตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ ห้ามนำมาชำแหละกินอย่างเด็ดขาด เนื่องจากเชื้อโรคจะมีอยู่ในปัสสาวะ อุจจาระ เลือดหมู คนที่เข้าไปดูแลรักษาหมูใกล้ชิด จะต้องสวมถุงมือ ใส่หน้ากากอนามัย อย่าให้สารคัดหลั่งเข้าตา เข้าจมูก และล้างมือทุกครั้งหลังสัมผัสหมู
สำหรับผู้เลี้ยงหมูในเล้าที่มีหมูตายบางส่วน หรือชาวบ้านที่สัมผัสหมู หากมีอาการไข้ หายใจไม่สะดวก ปวดศีรษะ อาเจียน ชัก ให้รีบไปพบแพทย์ทันที อย่าซื้อยากินเอง ในกลุ่มประชาชนทั่วไปแนะนำว่า ยังสามารถบริโภคเนื้อหมูในท้องตลาดได้ตามปกติ แต่ต้องเลือกซื้อเนื้อหมูสด ไม่ซื้อเนื้อหมูที่ตายจากโรค โดยเนื้อหมูที่ตายจากโรคจะสังเกตง่ายๆ คือลักษณะของเนื้อจะมีจ้ำเลือดแทรกอยู่ตามเนื้อหมูหรืออวัยวะภายใน เช่น ไส้ ม้าม ตับ หัวใจ ปอด อย่างไรก็ตามประชาชนต้องรับประทานเนื้อหมูที่ปรุงสุกแล้วเท่านั้น
************************* 16 มีนาคม 2550
View 15
16/03/2550
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ