ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผยสถานการณ์โรคไข้เลือดออกตั้งแต่ต้นปี 2554 จนถึงเดือนมิถุนายน         ทั่วประเทศมีรายงานป่วยกว่า 2 หมื่นราย เสียชีวิต 13 ราย  ชี้ประชาชนทุกคนมีโอกาสเสี่ยงป่วยไข้เลือดออกเท่ากันกลุ่มเสี่ยงที่มีอันตรายสูงคือผู้สูงอายุ เด็กอายุต่ำกว่า 1 ขวบ แนะหากมีไข้สูงและไข้ไม่ลงภายใน 2 วัน หรือเมื่อไข้เริ่มลงแล้วแต่ยังมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปวดท้อง หรือเด็กเล็กมีอาการร้องกวน ซึม ไม่ดูดนม อาเจียน ให้สงสัยอาจเป็นไข้เลือดออก ให้รีบพบแพทย์ทันที  

          นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีฝนตกชุก เป็นฤดูกาลการระบาดของโรคไข้เลือดออก เนื่องจากปริมาณยุงลายซึ่งเป็นตัวการแพร่เชื้อ มีจำนวนมากกว่าฤดูกาลอื่น เพราะมีแหล่งน้ำขังเพาะพันธุ์ยุงจำนวนมาก จึงทำให้ประชาชนทุกคนมีโอกาสถูกยุงลายกัด และเสี่ยงป่วยเป็นไข้เลือดออกได้เท่ากัน โดยเฉพาะ 2 กลุ่มเสี่ยงที่มีอันตรายสูงคือ เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 1 ขวบ เนื่องจากไม่สามารถบอกอาการตัวเองได้ และกลุ่มของผู้สูงอายุ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่อาจมีโรคประจำตัวเรื้อรังอยู่แล้ว เช่นเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง หากป่วยเป็นไข้เลือดออก อาจทำให้อาการรุนแรงขึ้นได้   
          สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปี 2554 ทั่วประเทศมีรายงานผู้ป่วยสะสมตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน จำนวน 23,324 ราย ผู้ป่วยที่พบกลุ่มใหญ่ที่สุดคือร้อยละ 52 อยู่ในกลุ่มอายุ 10-24 ปี โดยพบเด็กอายุต่ำกว่า 1 ขวบป่วยจำนวน 647 ราย ส่วนผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป ป่วย 190 ราย มีผู้เสียชีวิตรวม 13 ราย จากการสอบสวนโรค พบว่าทั้งผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตกว่าร้อยละ 80 ถูกยุงลายในบ้านกัด ในเดือนกรกฎาคม- สิงหาคมทุกปี จำนวนผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกจะสูงที่สุดในรอบปี กระทรวงสาธารณสุขมีมาตรการดำเนินการ 2 เรื่องหลัก มาตรการแรกคือการดูแลรักษาผู้ป่วยให้หายขาด  ป้องกันการเสียชีวิตให้ได้มากที่สุด ได้กำชับให้แพทย์ในโรงพยาบาลในสังกัด ให้ตรวจผู้ป่วยทุกวัยอย่างละเอียด และมาตรการป้องกันโรค เน้นวิธีการป้องกันไม่ให้ยุงกัด โดยเฉพาะผู้ที่นอนกลางวัน เช่นเด็กเล็ก ผู้ที่ทำงานช่วงกลางคืน ต้องนอนในมุ้ง หรือนอนให้ห้องมีที่มีมุ้งลวด เนื่องจากยุงลายตัวการนำเชื้อออกหากินเวลากลางวัน ตั้งแต่ช่วงเช้าจนถึงพลบค่ำ และการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายทั้งที่อยู่ในภายในบ้านและรอบๆบ้านทุก 7 วัน ได้ให้สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัด และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ร่วมกับอสม.ประมาณ 1 ล้านคนทั่วประเทศ รณรงค์ให้บ้านทุกหลังทุกชุมชนดำเนินการต่อเนื่อง หากทุกพื้นที่ไม่มียุงลาย ก็จะไม่มีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก  
   ทางด้านศาสตราจารย์คลินิกแพทย์หญิงศิริเพ็ญ กัลยาณรุจ ผู้เชี่ยวชาญโรคไข้เลือดออก สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กระทรวงสาธารณสุข และที่ปรึกษาองค์การอนามัยโลกด้านโรคไข้เลือดออก กล่าวว่า เชื้อไวรัสโรคไข้เลือดออกมี 4 สายพันธุ์ โดยกลุ่มเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 1 ปี และกลุ่มผู้สูงอายุ เป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มการติดเชื้อไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นในเด็กเล็ก เป็นกลุ่มที่มีภูมิต้านทานเชื้อไวรัสโรคไข้เลือดออกต่ำ ซึ่งส่วนหนึ่งแม้ว่าจะได้ภูมิต้านทานมาจากมารดาก็ตาม แต่ระดับยังไม่เพียงพอต่อการป้องกันโรค หากติดเชื้อไข้เลือดออกจะมีอาการรุนแรง ส่วนกลุ่มของผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่จะเป็นการติดเชื้อซ้ำ อาการมักจะรุนแรงกว่าวัยทั่วๆไป โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว ดังนั้นหากมีไข้สูงติดต่อกันและไข้ไม่ลดลงภายใน 2 วัน ขอให้นึกถึงโรคไข้เลือดออก ต้องไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเพื่อการตรวจวินิจฉัยโรคที่ถูกต้องและรักษาได้อย่างทันท่วงที 
      แพทย์หญิงศิริเพ็ญกล่าวต่อว่า อาการป่วยของโรคไข้เลือดออกที่มีลักษณะพิเศษต่างจากโรคอื่นๆ ได้แก่ ไข้สูงติดต่อกัน 2-7 วัน แต่มักไม่มีอาการไอ ไม่มีน้ำมูกไหล เด็กเล็กที่ป่วยเป็นไข้เลือดออกจะดูแลยาก เด็กบางรายจะมีอาการปวดท้อง ถ่ายเหลวร่วมด้วย ทำให้ผู้ปกครองเข้าใจผิด คิดว่าเด็กมีปัญหาลำไส้อักเสบ และเด็กยังบอกอาการไม่ได้ จึงต้องอาศัยการสังเกตอาการป่วยเป็นสำคัญ อาการที่ต้องสังเกตใกล้ชิดมี 2 ช่วง ได้แก่ช่วงที่มีไข้สูง ตัวร้อนมาก หากหลังให้กินยาลดไข้ คือ ยาพาราเซตามอล หรือเช็ดตัวด้วยน้ำอุ่นแล้ว ไข้ไม่ลดภายใน 2 วัน หรือเด็กร้องกวนมาก ไม่กินนม ขอให้ผู้ปกครองคิดถึงว่าเด็กอาจป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก และช่วงที่ 2 คือช่วงที่ไข้ลดลงหลังมีไข้ประมาณวันที่ 3 หรือวันที่ 4 ซึ่งโดยทั่วไปผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการสดชื่นขึ้น กินอาหารได้ แต่จะมีประมาณ 2-5 เปอร์เซนต์ ที่อาจมีอาการซ็อก โดยมีสัญญาน ดังนี้ ผู้ป่วยจะมีอาการซึมลง เบื่ออาหาร มีอาการเพลียมาก ปวดท้อง อาเจียน กระสับกระส่าย   มือเท้าเย็น ถ่ายปัสสาวะน้อยลง สัญญานในเด็กเล็กคือไม่ดูดนม ร้องกวนตลอดเวลาขอให้รีบพาไปโรงพยาบาลทันที เพื่อการรักษาที่ถูกต้อง 
 อย่างไรก็ตาม ในช่วงฤดูฝนนี้มีโรคหลายโรคที่มีอาจมีอาการใกล้เคียงกับไข้เลือดออก เช่นโรคฉี่หนู โรคมือเท้าปาก ไข้หวัดใหญ่ โรคดังกล่าวจะเริ่มจากมีไข้สูง ยาลดไข้ที่แนะนำให้ใช้ได้คือ พาราเซตามอล ให้กินเฉพาะเวลาที่มีไข้สูง ถ้าไข้ไม่ลงให้เช็ดตัวด้วยน้ำอุ่นหรือน้ำธรรมดา และให้ดื่มน้ำเกลือแร่มากๆ ยาลดไข้ที่ห้ามใช้ได้แก่ ยาแอสไพริน ยาที่มีฤทธิ์ลดไข้บรรเทาอาการปวดเมื่อย เช่น บรูเฟน ยาที่มีสเตียรอยด์เป็นส่วนประกอบ เนื่องจากยาดังกล่าวระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร จะทำให้มีเลือดออกในกระเพาะอาหารอย่างรุนแรง หากเป็นไข้เลือดออกอาจทำให้เสียชีวิตได้       
 
 **************************************    18 กรกฎาคม 2554


   
   


View 20    18/07/2554   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ