กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชน ระวัง 4 ภัยสุขภาพที่มาพร้อมกับแดดแรง อากาศร้อน ได้แก่ ลมแดด โรคเพลียแดด ตะคริวแดด ผิวหนังไหม้แดด คนที่มีความเสี่ยงสูงได้แก่ เด็กทารกและเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป คนอ้วน คนที่ออกกำลังกายใช้แรงเกินพิกัด เป็นโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง ในปี 2552 ไทยพบคนเป็นลมแดดเข้ารักษาในโรงพยาบาล 32 ราย แนะการป้องกันให้ดื่มน้ำ 6-8 แก้วหรือ 2 ลิตรต่อวันยิ่งดี งดดื่มเหล้า หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง สวมเสื้อผ้าที่สีอ่อน น้ำหนักเบาสบาย หากออกนอกบ้านควรสวมแว่นกันแดด สวมหมวกปีกกว้าง ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้สภาพอากาศโลกมีอุณหภูมิสูงขึ้น นับวันยิ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ จากสถิติที่ผ่านมาตั้งแต่ 2522 – 2546 พบมีการเสียชีวิตจากความร้อนในประเทศสหรัฐอเมริกากว่า 8,000 ราย แม้จะพบไม่บ่อยในเมืองไทย แต่ก็ไม่ควรประมาท เพราะโรคที่เกิดจากความร้อนเป็นโรคที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ โดยในช่วงฤดูร้อน ที่สำคัญมี 4 โรค ได้แก่ โรคลมแดด (Heat Stroke) โรคเพลียแดด (Heat Exhaustion) โรคตะคริวแดด (Heat Cramps) และผิวหนังไหม้แดด (Sunburn) ที่อันตรายถึงขั้นเสียชีวิตคือโรคลมแดด ในปี 2551 ไทยพบผู้ป่วยโรคลมแดด 80 ราย เสียชีวิต 4 ราย ในปี 2552 มีรายงานประชาชนในสิทธิรักษาฟรี 48 ล้านคนป่วยจากโรคนี้เข้ารักษาในโรงพยาบาล 32 ราย ดร.พรรณสิริกล่าวต่อว่า ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคจากความร้อนทั้ง 4 โรค ได้แก่ เด็กทารก และเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป คนอ้วนมีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน ผู้ที่ออกกำลังกายหักโหมหรือใช้แรงอย่างหนัก และผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง จึงต้องระมัดระวังเป็นกรณีพิเศษ ควรจะดื่มน้ำสะอาดให้มากๆ อย่างน้อยวันละ 6-8 แก้วหรือวันละ 2 ลิตรได้ยิ่งดี เนื่องจากคนที่ดื่มน้ำไม่เพียงพอ จะไม่สามารถปรับตัวให้สู้กับความร้อนได้ เพราะน้ำเป็นตัวควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย ซึ่งปกติทั่วไป ร่างกายจะพยายามปรับอุณหภูมิให้อยู่ที่ 37 องศาเซลเซียส ประการสำคัญในการแต่งกาย ขอให้สวมเสื้อผ้าที่หลวม ๆ เบาสบาย มีสีอ่อน หากออกนอกบ้าน ควรกางร่มหรือสวมหมวกปีกกว้าง ใส่แว่นกันแดด และทาครีมกันแดดที่มีค่าเอสพีเอฟ 15 ขึ้นไป ก่อนออกแดด 30 นาที และทาซ้ำตามคำแนะนำของผลิตภัณฑ์ ด้านนายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคลมแดด จะมีอาการที่สังเกตง่ายคือ ผิวหนังจะแดงร้อน และแห้ง ไม่มีเหงื่อ หากวัดปรอททางปาก อุณหภูมิจะสูงเกิน 40 องศาเซลเซียส หรือ 103 องศาฟาเรนไฮต์ ผู้ป่วยจะชีพจร เต้นแรงและเร็ว มีอาการคลื่นไส้ สับสน ไม่รู้สึกตัว ในการช่วยเหลือผู้ป่วยประเภทนี้เบื้องต้น ให้นำผู้ป่วยเข้าที่ร่มทันที และใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตัว หรือแช่ตัวในน้ำเย็น ในรายที่มีอาการหนัก อาจจะใช้ผ้าชุบน้ำเย็นห่อตัวไว้ และรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที ส่วนโรคเพลียแดด จะมีอาการเหงื่อออกมาก หน้าซีด ปวดหัว วิงเวียน คลื่นไส้หรืออาเจียน ผู้ป่วยจะมีอาการเหนื่อย อ่อนแรง หรือเป็นลม ผู้ป่วยประเภทนี้ จะมีอุณหภูมิในร่างกายสูงเกิน 37 องศาเซลเซียส แต่ไม่เกิน 40 องศาเซลเซียส ในการช่วยเหลือคนที่เป็นโรคเพลียแดด ให้ดื่มน้ำเย็น ที่ไม่มีแอลกอฮอล์ผสม ให้พัก อาบน้ำหรือเช็ดตัวด้วยน้ำเย็น หากเป็นไปได้ ให้อยู่ในสถานที่ที่มีเครื่องปรับอากาศ เพื่อลดอุณหภูมิร่างกาย และสวมเสื้อผ้าที่เบาสบาย อาการก็จะดีขึ้นเรื่อย ๆ และเป็นปกติได้เอง นายแพทย์มานิตกล่าวต่อว่า สำหรับโรคตะคริวแดด มักพบในผู้ที่ทำงานกลางแดด หรือออกกำลังกายหักโหมขณะที่มีอากาศร้อน จะมีอาการปวดกล้ามเนื้อ หน้าท้อง แขน ขา มีอาการเกร็ง ในการช่วยเหลือผู้ป่วยประเภทนี้ จะต้องให้หยุดออกกำลังกายหรือหยุดใช้แรงทันที เมื่ออาการดีขึ้นแล้ว ไม่ควรออกกำลังกายซ้ำภายใน 2-3 ชั่วโมง ให้ดื่มน้ำผลไม้หรือเครื่องดื่มที่มีเกลือแร่ หากเป็นไปได้ให้อยู่ในที่ที่มีเครื่องปรับอากาศ หากอาการไม่ดีขึ้นใน 1 ชั่วโมงให้รีบไปพบแพทย์ ส่วนผิวหนังไหม้แดดเป็นอาการที่เบาที่สุด ผิวหนังจะเป็นรอยแดงปวดแสบปวดร้อนเล็กน้อยหลังถูกแดด ซึ่งโดยทั่วไปอาการจะหายได้เองภายใน 1 สัปดาห์ ในการดูแลหากผิวหนังไหม้แดด ขอให้หลีกเลี่ยงการออกแดดซ้ำ และประคบด้วยความเย็น เช่นผ้าเย็น กระเป๋าน้ำแข็ง ถุงเจลแช่เย็น และทาโลชั่นให้ความชุ่มชื้นบริเวณที่เป็นรอยไหม้ หากมีตุ่มพุพองขึ้นห้ามเจาะ เพราะจะทำให้อักเสบได้ นายแพทย์มานิตกล่าวต่อไปว่า ประเด็นที่น่าห่วงคือเรื่องการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะช่วงอากาศร้อน ประชาชนบางกลุ่มนิยมดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เย็นๆ เพื่อคลายร้อนในช่วงกลางวัน ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิต เนื่องจากฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ จะทำให้หลอดเลือดใต้ผิวหนังขยายตัว ผนวกกับอากาศที่ร้อนอบอ้าว จะทำให้สูญเสียน้ำทางเหงื่อและปัสสาวะได้ง่ายยิ่งขึ้น ทำให้ร่างกายขาดน้ำ อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น อาจช็อคหมดสติได้เช่นกัน ในกรณีที่เป็นผู้ที่ต้องทำงานหรือออกกำลังกายกลางแจ้ง กลางแดดร้อน ขอให้ดื่มน้ำเย็น 2-4 แก้วทุกชั่วโมง หากเสียเหงื่อมากให้ดื่มน้ำเกลือแร่ ในช่วงที่อากาศร้อนจัดมากขอให้ประชาชนควรอยู่ในอาคาร หากไม่อยู่ในห้องที่มีเครื่องปรับอากาศ ไม่ควรใช้พัดลมเป่า เพราะไม่สามารถช่วยลดอุณหภูมิร่างกายได้ วิธีที่ดีที่สุดคือให้อาบน้ำ หรือใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตัวซึ่งจะช่วยลดความร้อนของร่างกายได้ดี *********************************** 8 พฤษภาคม 2554


   
   


View 13    08/05/2554   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ